ภูฏาน

KUZUZANGPO (La)

คุซุซังโป (ล่า) สวัสดี (ค่ะ/ครับ)

คุณ…..เคยเหนื่อยล้าจนไม่อยากทำอะไรนอกจากนั่งหายใจทิ้งไปวัน ๆ ไหม

ถ้าเคย….. เก็บกระเป๋าแล้วขึ้นเครื่องบินนั่งเอียงซ้ายเอียงขวา 3 ชั่วโมงไปสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชียกันดีกว่า อาจจะฟังดูง่าย ๆ แต่เรื่องจริงไม่ง่ายเลย ที่นั่นจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ค่าเข้าประเทศราคาค่อนข้างสูงถึง 250 เหรียญดอลลาห์ต่อคน และห้ามแบกเป้เข้าประเทศเด็ดขาด เพราะเขาต้องการคัดคนมีคุณภาพเข้าประเทศ มิใช่ใคร ๆ ก็ก้าวเข้าไปเช็คอินได้ เป็นไง!!! น่าสนใจไหม

ภูฏาน(อ่านว่า ภูตาน) ประเทศที่คาร์บอนไดออกไซน์ติดลบเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้พื้นที่ 60%ของประเทศต้องเป็นป่า และเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุข มากที่สุดในโลก

เมื่อเดือนที่แล้วฟังข่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถิติคนฆ่าตัวตายติดอันดับ 1 ในอาเซียน

คนเราจะอยากตายก็มีแค่เหตุผลเดียว คือมีความทุกข์ แล้วใครจะเมตตายื่นความพ้นทุกข์ไปให้ได้ นอกจากความตายน่าใจหายที่คนคิดว่าความตายเป็นทางเดียวที่จะพ้นทุกข์เราไปดูชีวิตคนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกกันว่ามันเป็นอย่างไร เอามาปรับใช้กับเราได้หรือไม่

จริง ๆ แล้วไม่มีแผนไปที่นี่เลยเพราะเห็นว่าเงื่อนไขการเข้าประเทศค่อนข้างจะเข้มงวดและดูแล้วเหมือนเป็นเมืองลับแลที่จับต้องได้ยาก แต่ด้วยพี่ชายที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอยากไปกราบพระที่วัดทักซัง แล้วหมอห้ามเดินทาง ผู้เขียนจึงอาสาไปทำหน้าที่แทน ภูฏาน แผ่นดินบนที่สูง หรือ ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) หรือในภาษาท้องถิ่น คือ Druk Yul (ดรุก ยุล) แปลว่า“ดินแดนของมังกรสายฟ้า”

ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา ตามตำนานเล่าว่า Tsangap Gyare Yeshe Diorje กำลังประกอบพิธีสถาปนาวัดแห่งหนึ่งในทิเบต พลันนั้นท่านได้ยินเสียงร้องซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเสียงของมังกร วัดนี้จึงมีชื่อว่า ดรุก(มังกร)

และให้ตั้งชื่อสำนักที่ท่านตั้งว่า “ดรุก ยุล”ภาษาถิ่นของภูฏานแปลว่าดินแดนสายฟ้า นั่นเอง

ภูฏานเป็นประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เล็กเท่ากับ 6 จังหวัด ทางภาคเหนือสุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างประเทศอินเดียกับประเทศจีน เคยอ่านพบว่าที่นี่คล้าย ๆ ทิเบต ในด้านศิลปะ ศาสนา และภาษา

เราเริ่มต้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยสายการบิน ภูฏานแอร์ไลน์ ถึงท่าอากาศยานปาโร ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งเดียวของภูฏานและมีรันเวย์ของสนามบินยาวแค่ 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปาโร เนื่องจากที่นี่รายล้อมไปด้วยยอดเขาสูงไม่ต่ำกว่า 5,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ติด 1 ใน 10 สนามบินที่มีความท้าทายแห่งหนึ่งของโลก ในปี 2562 นี้ มีนักบินเพียง 17 คนที่มีใบอนุญาตสามารถนำเครื่องลงจอดได้แต่ก็มีเงื่อนไขว่า อนุญาตให้นำเครื่องขึ้นและลงในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเท่านั้น เมื่อเครื่องลงจอดและผู้เขียนก้าวเท้าลงเหยียบแผ่นดินภูฏานสิ่งแรกที่สัมผัสได้คือความเรียบง่ายและเงียบสงบ ที่สายตาได้ประสบคืออาคารไม้ที่งดงามอย่างที่มิเคยเห็นที่ไหนมาก่อน และเมื่อเดินเข้าไปใกล้ ๆ ก็เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของครอบครัวสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตชุน เพมา วังชุก ผู้เขียนวิ่งเข้าไปยกมือทำความเคารพด้วยความเคารพสูงสุด ปลื้มปิติ ระคนตื้นตันใจ  หันไปทางไหนก็เห็นแต่ภูเขาสีเขียว อากาศก็แสนจะเย็นสบายจนรู้สึกหลงรักได้อย่างง่าย ๆ แค่ก้าวเข้ามาก็มีความสุขแล้ว

จุดหมายแรก เมื่อมาเยือนเมืองปาโร คือ รินปุงซอง หรือรู้จักกันดีในชื่อว่าปาโรซอง แปลว่า “ป้อมอัญมณี” ถูกสร้างขึ้นโดย ซับดรุง งาวัง นัมเกล ที่นี่เคยถูกไฟไหม้และถูกสร้างขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิมทุกอย่างด้วยเงินของประชาชน เป็นซองที่แข็งแกร่งและงดงามป้องกันข้าศึกได้หลายครั้งหลายครา มีสีขาวสวยงามข้างในประกอบด้วยภาพเขียนเก่าแก่มากมาย ปาโรซอง ถูกยกให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร และเคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีชื่อดัง Little Buddha พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกลืมไม่ได้ ที่ออกฉายเมื่อ 26 ปีที่แล้วเป็นเรื่องราว เกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าที่มีเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อแต่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธาของชาวพุทธมาตีความให้เห็นเป็นภาพยนตร์ ผู้เขียนก็ไม่เคยดูนะ

เมืองปาโร (Paro) อยู่ทางตะวันตกของ ภูฏาน ห่างจากเมืองหลวงทิมพู ประมาณ 53 กิโลเมตร มีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ ตอสาชู วังชู และพูนาชู รวมกันเป็นปาโรชู (ชู แปลว่าแม่น้ำ) ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และกาลเวลา ปาโร ถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและสวยที่สุดในภูฏาน เดินทางสู่เมืองทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศภูฏาน มีระดับสูงกว่าน้ำทะเล 2,350 เมตร อ่านโปรแกรมทัวร์แล้วกระทบความรู้สึกทันที  มันคืออะไร มีผลอย่างไร และถ้าไม่ค่อยรู้เรื่องพิกัดระดับความสูงยิ่งกังวลใจหนัก เพราะฟังคนที่เคยไปพูดกันไปต่าง ๆ นานา จริงบ้างไม่จริงบ้าง แอบกลัว สุดท้ายปวดท้อง เวียนหัว หายใจไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าไปทิมพู คือ การไปดอยอินทนนท์ที่ทุกคนอยากไปกางเต็นท์ จบนะ ไม่ต้องไปสนว่ามันสูงกว่าน้ำทะเลกี่เมตร อย่าอุปทานหมู่ เมืองทิมพูมีโรงหนังเพียงสามโรงเท่านั้น และทั้งหมดจะฉายเฉพาะภาพยนตร์ของภูฏานและเป็นภาษาซองคาเท่านั้น ไม่มีซับไตเติล เห็นภาพความเล็กของเมืองเลยไหม

ระหว่างทางก็แวะไหว้พระที่สำนักสงฆ์ตัมโช จอดรถแล้วสาดกล้องไปที่สะพานแขวนเก่าแก่ทอดข้ามแม่น้ำที่สร้างโดย   พระโยคีลามะ ในศตวรรษที่ 15 ที่เดินทางมาจากธิเบตเพื่อหาแร่เหล็ก จำได้แค่นั้น หลังจากนั้นเข้าไปล้างหน้าล้างตาในโรงแรมแล้วออกไปยังสถูปที่สร้างถวายรัชกาลที่ 3 ภายในสถูปมีรูปปั้นเทพและมารที่ต่อสู้กันตลอดเวลา ผู้เขียนไม่สามารถอธิบายได้เพราะ ชาวภูฏานนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน (ตันตระ-วัชรยาน) เป็นประเทศเดียวในโลกที่ยอมรับศาสนานี้เป็นศาสนาประจำชาติ เชื่อเรื่องเวรกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด การดำเนินชีวิตได้รับอิทธิพลจากเรื่องของศาสนาทั้งสิ้น ประชาชนไม่กล้าทำชั่วเพราะกลัวบาป แม้แต่แค่คิดฆ่าตัวตายก็บาปแล้ว

พระสงฆ์สามารถมีภรรยาและออกไปทำมาหากินได้ จากการทำพิธีทางศาสนาทั้งในวัดและนอกวัด ทานข้าวเย็นได้แต่อบายมุขเช่น ห้ามสูบบุหรี่หรือดื่มสุราเด็ดขาด

ถ้าเรานำบุหรี่เข้าประเทศนี้จะต้องจ่ายภาษี 200% กลับเข้ามาที่เรื่องศาสนายอมรับว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย ขนาดเคยเรียนเรื่องพุทธประวัติมาแล้วก็ยังสับสน เพราะเทพเจ้า พระโพธิสัตว์ และมารแต่ละท่านชื่อไม่เหมือนของเราเลย ส่วนพิธีกรรมการสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลนั้น ก็เดินเวียนซ้ายรอบสถูป เหมือนบ้านเราเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ วิธีการกราบพระของคนไทยจะกราบแบบ “เบญจางคประดิษฐ์” ส่วนคนภูฏานจะกราบแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” คือการกราบแบบนอนราบให้อวัยวะสำคัญ 8 ส่วน คือ มือสองข้าง เข่าสองข้าง เท้าสองข้าง ลำตัว และหน้าผาก สัมผัสกับพื้น จากนั้นลุกขึ้นมาใหม่ทำแบบนี้ 3 ครั้ง หรือที่เรียกกันว่าการกราบแบบธิเบต การสวดมนต์ที่นี่ในความคิดของผู้เขียนทำได้ง่ายมากโดยการหมุน “กงล้อมนตรา”แค่เราเดินหมุนกงล้อก็เท่ากับเราได้สวดมนต์หลายร้อยหลายพันบท หลายพันรอบ ทำให้จิตเกิดสมาธิไม่วอกแวกไปที่อื่น

ทุกเย็นเรากลับมาทานอาหารที่โรงแรม ชาวภูฏานไม่ค่อยทานเนื้อสัตว์ จะทานผัก ผลไม้เป็นหลัก และที่สำคัญพวกเขาไม่ฆ่าสัตว์ การฆ่าสัตว์สำหรับประเทศนี้ถือเป็นการผิดกฎหมาย ดังนั้นเนื้อสัตว์จึงนำเข้ามาจากประเทศอินเดียเป็นหลัก อาหารส่วนใหญ่รสชาติค่อนข้างร้อนแรงเนื่องจากแถบเทือกเขาหิมาลัยอากาศจะหนาวเย็น การทานอาหารรสเผ็ดร้อนช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และคลายความหนาวได้ดี

วันที่สองของกรุ๊ปทัวร์ เทศกาลระบำหน้ากาก Tshechu

เช้าวันนี้คณะของเราใส่ชุดประจำชาติของภูฏาน โดยผู้ชายใส่ชุดโกะ ผู้หญิงใส่ชุดกีร่า ไปร่วมงานเทศกาลระบำหน้ากาก Tshechu เพื่อให้เกียรติสถานที่และทำตามวัฒนธรรมของคนภูฏานอย่างเคร่งครัด เทศกาลจัดขึ้นที่ทิมพูซอง เราไปถึงกันค่อนข้างจะสายผู้คนเริ่มหลั่งไหลกันมาจากทั่วสารทิศ เราดูเนียนเป็นพวกเดียวกับเขาได้อย่างไม่ขัดเขิน สาว ๆ หนุ่ม ๆ ใส่ชุดประจำชาติคาดผ้าแถบบ่งบอกฐานะและสถานภาพกันอย่างชัดเจนเพราะถ้าเป็นผู้ชายที่คาดผ้าสีขาวก็คือสามัญชนไม่ได้มียศฐาบรรดาศักดิ์อะไร แต่ถ้าคาดผ้าที่มีลวดลายก็คือคนมีฐานันดรและมีตำแหน่งนั้นเอง ส่วนผู้หญิงจะดูกันที่ชนิดของผ้าและลายปัก ผู้เขียนเอง อยากได้ผ้าไหมภูฏาน 1 ชิ้น(ของมันต้องมี) กำลังจะจ่ายเงินพอเขาบอกราคา เป็นเงินไทย 79,000 บาท ยอมรับว่าต้องถอยทันที(ของนี้ยังไม่ต้องมีก็ได้) ผ้าบางผืนใช้เวลาทอ 1-2 ปี ราคาจึงแพงมาก เข้าเรื่องงานต่อ ไกด์ท้องถิ่นบอกว่าการไปร่วมงานเหมือนเป็นการไปเลือกคู่ครองไปด้วยในตัว เพราะเราจะเห็นแต่ความสวยงาม และสนุกสนาน หวานชื่น คงคล้าย ๆ งานวัด ก่อเจดีย์ทรายในสมัยก่อน สาว ๆ หนุ่ม ๆ ก็ไปพบรักกันในวัด เจอกันในสถานที่ดี ๆ ชีวิตคู่ก็อบอุ่นและยืนยาว เจอกันในสถานที่ อโคจร อยู่กันไม่นานก็ต้องแยกย้ายกันไป

ภายในงาน ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นคนขี้เล่น ยิ้มง่าย (คิดเอง) จึงเดินหยอกล้อและเข้าไปถ่ายรูปกับคนท้องถิ่นได้สบาย ๆ ต้องยอมรับว่าพวกเขาใจดีมากทุกคน แม้กระทั่งผู้เขียนเดินเข้าไปขอถ่ายรูปกับผู้ใหญ่ในประเทศ(ดูจากแถบผ้าที่คาด) ท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับและยังบอกว่า ฉันชอบคนไทย ฟังแล้วอยากจะกอดซักที แม้ขณะจะเข้าไปในงานที่คิวยาวเป็นชั่วโมง ๆ เราก็ไม่ต้องไปเข้าคิวเช่นคนในท้องถิ่นเพราะเขาจะให้เกียรตินักท่องเที่ยวก่อน และเมื่อเข้าไปในงานเจ้าหน้าที่ก็จะเดินจัดหาที่ให้เรานั่งแทรกกับคนท้องถิ่นและทุกคนก็กุลีกุจอกันขยับให้เรานั่งไปบนเสื่อที่เขาเตรียมมาปูนั่งกันเองในครอบครัว ถ้าเป็นบ้านเราอาจจะโดนดูถูกด้วยสายตาและคิดกันไปต่าง ๆ นานา เพราะบ้านเราเจริญด้วยวัตถุไปไกลมากแล้วอย่ามาบอกว่าไม่รักประเทศตัวเอง ชอบด่าประเทศตัวเองให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ติเพื่อก่อกับด่าแบบมั่ว ๆ มันคนละแบบกันค่ะ

ระบำหน้ากากเซชู (Tshechu) ของเมืองทิมพู เป็นการแสดงกลางแจ้ง ในลานอเนกประสงค์ของซอง นักแสดงคือพระในวัด เณร และฆราวาสที่อยู่ในท้องถิ่น เรื่องราวที่นำมาแสดงมักเป็นเรื่องเก่าแก่มีอายุมานานนับพันปี แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตชาวภูฏานเป็นตำนานในพุทธศาสนา แม้จะมีการแสดงเรื่อง ซ้ำ ๆ กันทุกปี แต่ชาวบ้านก็ยังสนใจติดตามการแสดงในงานเทศกาลนี้อยู่เสมอ ท่วงทำนองดนตรี ชวนให้ขนลุกและน่ากลัว การใช้ดาบตัดกิเลสและเสียงรัวกลองขับไล่อธรรม ทำให้การแสดงมีความขลังเข้าไปอีก เทศกาลเซชู จะถูกจัดขึ้นตามป้อมปราการ(ซอง) หรือตามวัดประจำเขตต่าง ๆ วัน เวลา สถานที่ของทุกปีก็อาจจะไม่ตรงกัน ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าเขาใช้หลักอะไรในการกำหนดวัน การแสดงเน้นให้เห็นถึง บาป-บุญ-คุณ-โทษ และชัยชนะของความดี งานถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ถือว่าเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ปีนี้จัดขึ้นวันที่ 8-10 ตุลาคม จริง ๆ แล้วผู้เขียนอยากจะอยู่ร่วมงานทั้ง 3 วัน เพราะแต่ละวันการแสดงจะเปลี่ยนไปไม่ซ้ำรูปแบบ และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ภายในงานจะเป็นชาวภูฏานเสีย 97% ส่วนที่เหลือคือนักท่องเที่ยว ทัวร์เรามีเวลาให้ชมแค่ครึ่งวันเช้าแต่เราก็เข้างานสายเกินไป พอเข้าไปจึงได้เห็นแค่ตัวตลกอัทสารา Atsara ที่ออกมาหยอกล้อกับเด็ก ๆ และคนดู เรียกเสียงฮือฮาได้ดีทีเดียว มีแต่ผู้เขียนทำได้แค่นั่งยิ้มเพราะฟังไม่รู้เรื่อง นั่งก้นยังไม่ทันร้อนก็หมดเวลาทัวร์ เพราะโปรแกรมช่วงบ่าย จะต้องไปกราบพระใหญ่และไปสวนสัตว์เพื่อชมตัวทาคินที่มีที่นี่เท่านั้น เอ่อใครเขียนโปรแกรมคะ มาช่วงที่ดีที่สุดแต่ละทิ้งโอกาสเพื่อไปดูสิ่งที่อีก 10 ปี ถ้ามามันก็ยังอยู่ที่เดิมแอบโกรธนิด ๆ แต่เราต้องเคารพการตัดสินใจของคนหมู่มาก

ผู้เขียนเป็นขาวีนประจำหมู่บ้านจึงแอบอ้อนกับทางไกด์ไทยว่าวัดไปเมื่อไหร่วัดก็ยังอยู่ที่เดิม สัตว์มาดูเมื่อไหร่ก็ได้ ภายใน 10 ปีนี้ไม่สูญพันธุ์แน่นอน แต่งานเทศกาลที่ดีเช่นนี้ต้องช่วงนี้ วันนี้เท่านั้น ฉันขออนุญาตแยกตัวอยู่ที่งานต่อทั้งวัน เย็น ๆ จะกลับโรงแรมเองได้ไหม พอได้รับอนุญาตก็ดีใจวิ่งกลับเข้าไปในงาน เจ้าหน้าที่จุดตรวจทางเข้างานถามว่า ไหนไกด์ท้องถิ่นของคุณ ไม่อนุญาตให้เข้า เอ่อ!! ตกใจซิคร๊าบ ความซ่าที่ได้มาหายหมด แต่ก็รีบยิ้มและอธิบายงู ๆ ปลา ๆ ว่าไกด์พาลูกทัวร์ไปวัดแต่ฉันชอบที่นี่เมื่อเช้ามาแล้วพร้อมเอารูปในมือถือให้ดู ตีหน้าเศร้าแต่ส่งยิ้มสู้เสือเพราะทราบว่าคนที่นี่จิตใจดีมีเมตตามาก เจ้าหน้าที่ลังเลเล็กน้อยและสุดท้ายก็อนุญาตให้เข้าไป เฮ้อ!!!หัวใจแทบหยุดเต้น

ช่วงบ่ายคนยิ่งคับคั่งกว่าเดิม ฝนเริ่มตกแต่ไม่มีใครลุกจากที่นั่ง ผู้เขียนพลัดหลงเข้าไปในซุ้มแขกรับเชิญและฝนก็เริ่มตกหนัก คนภูฏานขยับที่ให้นั่งแล้วก็กางร่มให้อีกด้วย ชวนคุยให้ความเป็นกันเองอย่างที่สุด นั่งถ่ายรูปไปสักพักร่มคันที่อยู่แถวหน้าค่อย ๆ สูงขึ้นจนถ่ายรูปไม่ได้ เขาก็ไปกดร่มคันหน้าให้ต่ำลง นั่งไปครึ่งชั่วโมงฝนหยุดตกแดดเปรี้ยงร้อนจนฝ้ามาทั้งแถบและแสบหน้า เผลอแป๊ปเดียวอากาศเปลี่ยนเป็นเย็นสบาย บรรยายเพื่อให้เห็นความแปรปรวนของอากาศที่นี่ เข้างานกันต่อนะ ไฮไลต์ของงานที่ผู้เขียนได้ชมในช่วงบ่าย มาทราบทีหลังว่าเป็นเนื้อหาเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชื่อ “การพิพากษาวิญญาณ (รักซามาร์ซัม)” เป็นหนึ่งในระบำที่น่าสนใจที่สุดในงานเทศกาล  เซชู เป็นระบำเทศนาสั่งสอน แบ่งออกเป็นสององค์ คือ

องค์แรก : เริ่มด้วยการเต้นระบำของบรรดารักซาหรือยมบาลผู้เป็นบริวารของพระยมราช ผู้แสดงจะสวมชุดกระโปรงสีเหลืองกับหน้ากากรูปหน้าสัตว์ต่าง ๆ จากนั้นเทพจะปรากฏตัวขึ้นพร้อมลูกน้องคนสนิท คือเทพขาวกับภูตดำคอยจับตาดูการประกอบกุศลกรรมและกรรมชั่วของสรรพสัตว์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พระยมราชปรากฏตัวขึ้นถึงตอนนี้ การพิพากษาจะเริ่มต้นขึ้นด้วยผู้เข้ารับการพิพากษารายแรกเป็นวิญญาณบาปในชุดและหน้ากากสีดำ มือถือตะกร้าใส่เนื้อเอาไว้หนึ่งชิ้น (เนื้อเป็นสัญลักษณ์แทนความผิดบาป) พระยมราชจะรับฟังเรื่องราวจากปากของดวงวิญญาณ แล้วนำบาป-บุญ ขึ้นชั่งโดยใช้หินกรวดสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนบุญ หินกรวดสีดำแทนบาป เทพขาวพยายามช่วยดวงวิญญาณด้วยการยกเอากุศลผลบุญที่เขาเคยทำมาอ้าง ในขณะที่ภูติดำเอาความผิดบาปทั้งมวลมาตีแผ่ สุดท้าย วิญญาณบาปก็ถูกพิพากษาให้ตกนรก ทำให้ภูตดำแสนจะยินดี ตรงเข้าผลักไสวิญญาณบาปเข้าสู่เส้นทางลงนรกที่ปูผ้าสีดำลาดเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ การแสดงช่วงนี้มีบางช่วงบางตอนที่มีบทสวดมนต์น่ากลัว  อยู่ ๆ นกพิราบฝูงใหญ่ก็บินกรูกันเข้ามาในกลุ่มคนแสดงพอเสียงสวดหยุด นกก็บินจากไป โชคดีที่ผู้เขียนจับภาพไว้ได้เพราะมันเหมือนเรื่องงมงายเล่าแบบไม่มีหลักฐานไม่ได้เลย

องค์สอง : จะเปิดฉากด้วยระบำทั่วไป จากนั้นวิญญาณที่ดีจะปรากฏขึ้นโดยสวมชุดสีขาว ทาหน้าสีขาว และถือธงมนต์เอาไว้ในมือเพื่อสื่อถึงศรัทธาอันแก่กล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา การพิพากษาเหมือนฉากก่อนหน้านี้ ดำเนินเรื่องซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้วิญญาณดีได้รับตัดสินให้ได้ขึ้นสวรรค์ตามเส้นทางที่ใช้ผ้าสีขาวปูลาดเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ ภูตดำพยายามจะยึดตัวเขาเอาไว้ในวินาทีสุดท้าย แต่เทพขาวก็ช่วยเอาไว้ได้ จึงได้ขึ้นสวรรค์ไปพบกับการต้อนรับจากเหล่าเทพยดาทั้งหลาย เนื้อหาบางช่วงบางตอนของการแสดงนี้เอามาจาก เว็บไซต์ของภูฏานเซ็นเตอร์นะคะไปหาอ่านเพิ่มเติมกันได้ ผู้เขียนนั่งดูการแสดงสลับกับการดูผู้คนมันเหมือนอยู่ในโลกของความฝันที่ไม่มีวันได้ตื่นเพระเมื่องานจบคนทั้งเมืองยังใส่ชุดประจำชาติเดินกันขวักไขว่เหมือนตอนที่บ้านเรามีงานอุ่นไอรัก

5 โมงเย็นแล้วการแสดงจบลงด้วยความชื่นมื่น วิ่งไปหารถแท็กซี่เพื่อไปรวมกับกลุ่มทัวร์ที่หอนาฬิกาใจกลางตลาด การเรียกรถแท็กซี่ก็เหมือนบ้านเราคือโบกแล้วขึ้นนั่งไปได้เลย เพราะคนขับรถแท็กซี่ที่นี่ พูดคำว่า “ไม่ไป” “แก๊สหมด” “ต้องส่งรถ” ไม่เป็น ผู้เขียนเข้าไปในร้านดังเพื่อรอคิวซื้อถั่งเช่าซัก 10 กรัมละ 700 บาท(กิโลละ 700,000 บาท) มาฝากผู้ใหญ่ พอถึงคิวแต่ก็อด เพราะกลุ่มชาวเวียดนามที่อยู่ข้างหน้าเราเหมาไปหมดแล้ว เราสามารถหาซื้อจากชาวเขาตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แต่ผิดกฎหมาย นำออกนอกประเทศไม่ได้ เมื่อพลาดแล้วไม่มีอะไรให้ซื้อ จึงเดินไปดูสี่แยกที่อดีตเคยมีการติดตั้งไฟจราจร แต่ก็ถูกชาวภูฏานบ่นไม่เห็นด้วยเพราะรถไม่ค่อยมี จะติดตั้งไว้ทำไม สุดท้ายไฟจราจรจึงถูกถอดทิ้ง กลับมาใช้ระบบคนโบกเหมือนเดิม แอบเดินสำรวจตลาดเล็กน้อย เพราะเวลาผ่านไปรวดเร็วแต่ก็พอทราบได้ว่า ที่นี่ความเจริญเริ่มคืบคลานเข้ามาแล้ว เด็ก ๆ เริ่มนุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ทรงผมแปลกตา ของฟุ่มเฟือยเริ่มมี พูดคุยส่งเสียงดัง จนทำให้ผู้เขียนคิดว่า ความสงบสุข ความสวยงาม อากาศที่บริสุทธิ์ ความดีงาม และ “ธรรมมะ” จะทนแรงเสียดทานของ “อธรรม” ได้อีกนานแค่ไหนหนอ….

วันที่สามกรุ๊ปทัวร์ เยือนเมืองหลวงเก่า ปูนาคา

เดินทางจากเมืองหลวงใหม่ทิมพู ไปเยือนเมืองหลวงเก่าปูนาคา ระยะทาง 70 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง เพราะต้องข้ามเขาและเส้นทางคดเคี้ยว นั่งชมความงดงามของธรรมชาติ และเพิงขายพืชผักผลไม้ข้างทาง การจัดแต่งร้านสวยสะอาดตา เห็นก้อนหินที่วางทับบนหลังคาบ้านแล้วก็ตื่นเต้น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อป้องกันหลังคาบินไปกับสายลม อยากลงไปถ่ายรูปใจแทบขาดน่าเสียดายเราต้องรีบเพื่อไปให้ถึงที่หมายจะเอาเวลาที่ไหนไปเก็บดอกไม้ข้างทาง ผู้เขียนเกลียดการไปทัวร์แบบนี้มากเพราะเป็นคนชอบชิล ฉี่ ช็อป แช๊ะ แต่ไม่ชิมนะ เป็นคนท้องเสียง่ายและไม่ค่อยชอบกิน ยอมรับว่าแอบหงุดหงิด คิดในใจครั้งหน้าจะจัดกรุ๊ปมาเอง ขอไปหายใจทิ้งซัก 10 วันได้ไหม ระหว่างทางไปเมืองหลวงเก่าแวะชม สถูปแห่งชัยชนะและสันติสุขแห่งแผ่นดิน ดรุง วังเกล ซอร์เทน แบบตัน 108 สถูป สร้างโดย พระราชินี ดอร์จี วังโม วังชุก เพื่อระลึกถึงชัยชนะในการต่อสู้ของสงครามสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ซึ่งเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของประเทศ ในการปราบกบฏชนกลุ่มน้อย สถูปตั้งอยู่เหนือน้ำทะเล 3100 เมตร ถ้าอากาศเป็นใจคุณก็จะได้ยลโฉมอันไฉไลของเทือกเขาหิมาลัย แต่วันนี้หมอกหนา ขอย้ำหมอกไม่ใช่ PM 2.5 จึงได้แต่เห็นสถูปลอยอยู่ในหมอกขาว ๆ เหมือนอยู่ในดินแดนแห่งเทพนิยายก็มิปาน ขอแทรกเรื่องเล็ก ๆ ที่น่ารัก ตั้งแต่ผู้เขียนออกจากสนามบิน มีสิ่งหนึ่งที่ต้องเจอทุกที่คือหมาข้างถนนที่ตัวอ้วนและสะอาด (แอบกอดมาหลายตัวแล้ว) อย่างที่เล่าไว้ว่าคนที่นี่ไม่ฆ่าสัตว์และเป็นมังสวิรัติซะส่วนใหญ่ หมาที่นี่จึงอยู่กันอย่างมีความสุข และมีมากมาย มันเป็นความสุขในการเดินทางอีกอย่างของพวกทาสหมาทาสแมวอย่างผู้เขียน และ ที่น่าแปลกใจคือไม่มีขี้หมาให้เห็น เรียนเชิญพวกทาสทั้งหลาย เวลาไปเอาขนมไปฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ

ถึงเมืองปูนาคา ชมปูนาคาซอง ป้อมปราการประจำเมืองปูนาคา ได้ชื่อว่าเป็นซองที่สวยที่สุดในโลกและใหญ่ที่สุดในโลก เพราะที่ประเทศอื่นไม่มี จบนะ ไม่ต้องสงสัย ปูนาคาซอง ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโพและแม่น้ำโม ถูกสร้างขึ้นโดยท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล เมื่อ 350 ปีที่แล้ว ที่นี่คืออดีตเมืองหลวงของภูฏาน ปัจจุบันเป็นที่แปรพระราชฐานในฤดูหนาวและที่นี่ยังเป็นที่จัดพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เพราะเมืองปูนาคาได้ซื่อว่าเป็นเมืองโรแมนติกของภูฏาน ภายในงดงาม ใหญ่โต เวลาไปอย่าลืมเลนส์ไวด์ไปด้วยนะ อย่าพลาดเหมือนผู้เขียนเลย เสียใจ ไม่ได้รูปสวย ๆ มาฝาก

วันนี้ทั้งวัน นั่งรถไป-กลับ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง หมดแรง แต่ถ้าใครจะไปแนะนำให้นอนพักที่นี่ซัก 1 คืน จะได้วิวสวย ๆ และ ไม่เหนื่อยจนเกินไป อย่าไปยึดติดกับโรงแรม 5 ดาวเพราะเราจะพลาดอะไรไปมากมายในชีวิต

วันที่ 4 วัดสุดท้ายของทัวร์ บวชใจ ล้างจิต แล้วเดินพิชิตวัดถ้ำพยัคฆ์เหิร “วัดทักซัง”

หากใครมาเมืองไทยแล้วไม่ไปวัดพระแก้ว ถือว่ามาไม่ถึง ที่ภูฏานก็เช่นกัน หากใครไม่ได้ขึ้นไปกราบพระที่วัดทักซังก็ถือว่ามาไม่ถึงเช่นกัน ผู้เขียนจะไปถึงหรือไม่ ไปลองกันดู ก่อนไปออกกำลังกายอย่างหนักและแอบยิ้มเยาะว่า ภูกระดึงก็ขึ้นมาแล้ว ภูเขาไฟเอเรอตาเลในเอธิโอเปียก็เพิ่งปีนมานับประสาอะไรกับวัด ถามไกด์ท้องถิ่นและคนขับรถว่า คนภูฏานเดินกันกี่ชั่วโมง เขาตอบว่า 1.45 – 2 ชั่วโมง เราคิดในใจ บ้าที่สุดฉันขอ 3 ชั่วโมงนะ แล้วทำการจ้างคนขับรถแบกกระเป๋ากล้องถ่ายรูปขึ้นไปให้

ขออนุญาตพรรณนาโวหาร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจการเดินทางขึ้นวัดทักซังเสียหน่อย เพราะตอนผู้เขียนจะไปได้แต่นั่งจินตนาการไปต่าง ๆ นานา หาอ่านจากที่ไหนไม่ได้เลย อาจจะใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปมากซักหน่อยอยากให้เห็นภาพ

วัดทักซัง หรือที่เรียกกันว่าวัดรังเสือ เป็นวัดที่ สงบ สวยงามและยิ่งไปกว่านั้นคือความน่าอัศจรรย์ด้วยการที่วัดอยู่บนหน้าผาสูงจากพื้นดิน ประมาณ 900 เมตร ในอดีตวัดเคยถูกไฟไหม้จนเสียหายหลายครั้งหลายคราแต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่ จนกลายเป็นวัดศักดิ์สิทธ์และได้รับความศรัทธามากที่สุดจากนักแสวงบุญแดนหิมาลัย

การขึ้นวัดทักซังสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. ขี่ลา ช่วง 2.5 กิโลเมตรแรก สนนราคาคนละ 20 $ ซึ่งราคารวมอยู่ในค่าทัวร์เรียบร้อยแล้ว จะขี่ลาหรือไม่ขี่ลาก็ไม่คืนเงินนะ ลาจะไปส่งคุณที่จุดวิวพอยท์ หลังจากนั้นต้องเดินเอง
  2. เดินด้วยขาของตัวเอง ตั้งแต่จุดจอดรถไปจนถึงวัดทั้งขาไปและกลับ

ผู้เขียนเลือกข้อ 2 คือเดินเองตลอดเส้นทางเพราะเป็นคนรักสัตว์มากจึงไม่อยากขี่ลาเกรงใจกลัวเขาจะเหนื่อยแต่ในทางกลับกันถ้าเราคิดว่า ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ มีงานทำก็ดีไปอีกแบบ เลือกแบบที่ชอบกันเลยนะไม่มีผิดไม่มีถูก

เริ่มเดินที่เวลาประมาณ 9.30 น. เส้นทางเดินเป็นดินภูเขา และป่าสน เดินไปถ่ายรูปไป จากจุดจอดรถเดินไปวิวพอยท์ ระยะทาง 2.5 กม. ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เกินเวลาที่ชาวภูฏานเดินกันไปมากแล้วแต่ก็บอกตัวเองว่า ใครแคร์   ฉันมาเที่ยว ฉันสนุก เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปดอกไม้ใบหญ้าและธรรมชาติ เป็นการแถที่ดีที่สุดใครจะยอมรับว่าเหนื่อยจริงไหม

11.45 น. แวะพักเที่ยงที่จุดวิวพอยท์ เพื่อทานอาหารในคาเฟทีเรียที่มีแห่งเดียวบนเขาอาหารเป็นมังสวิรัติ การเดินขึ้นวัดทักซังของคนภูฏานถือเป็นเส้นทางแสวงบุญ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงละเว้นเนื้อสัตว์ ที่ปกติก็ไม่ค่อยทานกันอยู่แล้ว สำหรับคนที่คิดว่าไม่ไปต่อแล้วสามารถนั่งดื่มกาแฟชมวัดทักซังได้ ณ ที่นี่ก็สวยพอประมาณ แต่ไม่ใช่ผู้เขียนแน่นอน ดังนั้น

13.00 น. เริ่มการเดินอีกครั้ง การเดินจาก 2,300 เมตรไปสู่ 3,100 เมตร นี่เอาเรื่องอยู่นะ สำหรับคนพื้นที่ต่ำอย่างเรา ๆ มาเจอความสูงเกิน 2,000 เมตร ทำให้เหนื่อยง่าย และสำหรับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกายจะมีปัญหาหายใจไม่ค่อยทัน กอปรกับผู้เขียนเพิ่งหายป่วยได้ไม่นาน(ข้อแก้ตัว) ทำให้เกิดคำถามระหว่างทางในใจจะไปดีหรือหยุดดี สุดท้ายคิดว่าถ้าหยุดอยู่ตรงนี้ไม่ขึ้นตั้งแต่แรกเสียดีกว่า ไปตายเอาดาบหน้า เอ้าเดิน ทางเดินก็เริ่มยากขึ้น ยากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น จนไปถึงบันไดที่มีทั้งเดินขึ้นและเดินลงตลอดเส้นทางอีก 820 ขั้น รวมไปและกลับ 1,640 ขั้น แอบคิดในใจว่าถ้าทราบว่าเป็นเช่นนี้ คนไกลวัด ห่างศาสนา นินทาพระ อย่างผู้เขียนไม่มีทางขึ้นแน่นอน อนิจจาก็ได้แต่คิดเพราะคนส่วนใหญ่จิตใจแน่วแน่ และนิ่งสงบเพื่อขอไปกราบพระซักครั้ง น้ำมูกเริ่มมา น้ำตาเริ่มคลอ ดราม่าเกิดนึกโมโหพี่ชายว่า ตอนดี ๆ ก็ไม่เคยทราบว่าตัวเองต้องการอะไร พอจะตายบอกอยากไปไหว้พระผู้เขียนเริ่มเหนื่อยและเริ่มถอดใจ เดินด่าพี่ชายก็แล้ว เดินแผ่เมตตาก็แล้ว เดินหายใจเข้าออกแบบโยคะก็แล้ว บนพื้นที่สูงเช่นนี้ ทำให้เหนื่อยและหน้ามืดหลายครั้ง เนื้อตัวเริ่มเย็นจัด สุดท้ายก็คิดว่ามันเป็นคำขอก่อนตายเป็นการทำบุญใหญ่ในชีวิต แล้วจะไม่สู้ได้อย่างไร จึงเดินนึกถึงหน้าของพี่ชายและบอกว่า จะไปตามล่าหาความฝัน และหอบเอากลับมาให้ ช่วงสุดท้ายเดินกัดริมฝีปากตนเองให้มีความเจ็บปวดมากกว่าที่จะคำนึงถึงแต่ความเหน็ดเหนื่อยของตนเอง จนพบน้ำตกหน้าวัด นึกดีใจ โอ้ย ๆ ถึงแล้วโว้ย เธอเก่งมากแต่อนิจจาต้องปีนบันใดขึ้นไปอีก ก่อนขึ้นไปที่นี่นึกในใจจะไปดูจุดที่คนไทยตกลงไปตายด้วยว่าอยู่ตรงไหน แต่พอเดินไปเรื่อย ๆ ก็ลืมสิ้นทุกสิ่งอย่าง ในใจคิดแต่เรื่องดี ๆ

เวลา 14.00 น ผู้เขียนเดินถึงวัด หยิบกระโปรงที่อยู่ในเป้มาใส่เพื่อให้เกียรติสถานที่ และเริ่มปีนเข้าปีนออกห้องพระ(เขาเรียกวัด) ที่มีอยู่หลายห้องเพื่อแข่งกับเวลา ที่นี่งดการถ่ายภาพและเราจะถูกยึดสัมภาระทุกอย่างก่อนขึ้นไปกราบพระขั้นสุดท้ายและแล้วก็มาถึงห้องสำคัญ ผู้เขียนนั่งลงสวดมนต์และแผ่เมตตาระลึกถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายและพี่ชายว่ามาถึงแล้วนะ ตื้นตันใจเป็นที่สุดขอบุญกุศลจงเกิดกับทุกคนนะ ขณะนั้นมีกลุ่มคนแก่ถือลูกประคำติดมือเดินเข้ามานั่งเกือบ 10 คน และเมื่อผู้เขียนก้มลงกราบพระ คนกลุ่มนั้นเริ่มสวดมนต์เป็นภาษาแปลก ๆ คนไกลวัดอย่างผู้เขียนขนลุกตั้งอีกครั้ง ปลื้มปิติ และเชื่อว่าคนที่ใช้ผู้เขียนมาได้รับผลบุญในครั้งนี้แล้ว ณ ที่วัดทักซังหรือวัดรังนางเสือ มีพระอะไรซ่อนอยู่ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านไปสัมผัสประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ไปกันเองก็แล้วกัน

เวลา 15.00 น เริ่มเดินลงจากวัด กลับออกมาทางเดิม ขาไปที่ว่าทุกข์  ขากลับยิ่งทรมาน คนขับรถที่จ้างไปแบกกล้องเข้ามาพยุงผู้เขียนเดินกลับ สุดท้ายมาถึงจุดนัดหมาย 16.00 น เหนื่อยแทบขาดใจ ไปอีกไหม? ไปแน่แน่นอน ภูฏานเป็นประเทศที่เหมาะสมที่จะกล่าวว่าต้องมาซักครั้งหนึ่งก่อนตาย

ถ้าบุญยกให้กันได้ และสิ่งศักดิ์สิทธ์ มีจริง การเดินทางในครั้งนี้ขอนำส่งผลบุญให้กับ ทุกท่านเจริญรุ่งเรืองไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ผู้เขียนเดินทางไปกับบริษัททัวร์  ยอมรับว่าที่บ่น ที่ว่ามาทั้งหมดจริง ๆ แล้ว บริษัททัวร์จัดดีมาก โรงแรมอาหาร  คนขับรถ ไกด์ไทย และไกด์ท้องถิ่นได้คนที่มีความรู้ เสียแต่เรื่องเวลาที่อาจจะถูกใจคนอื่น แต่ไม่ถูกใจผู้เขียนก็เท่านั้น จำไว้ว่าการเลือกบริษัททัวร์ถ้าได้ไกด์เป็นคนสุภาพนำทัวร์เราคือพวกไฮโซออกเที่ยว แต่ถ้าไกด์ไม่ดีทัวร์แพงแค่ไหนเราก็เป็นได้แค่กระเหรียงที่มีเงินไปต่างประเทศเท่านั้น

คะดินเชอลา ขอบคุณค่ะ KARDINCHE La

Photo / Story  : Kwanzaa