หลอดไฟ – นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์” 
ศิลปินนักเต้นผู้ปลุกกระแส ‘Contemporary’ เมืองไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ​ 

ภาพของหญิงสาวที่ร่ายรำผ่านท่วงท่าแปลกตาที่เรียกว่า “คอนเทมโพรารี่” (Contemporary) หรือการเต้นรำแบบร่วมสมัย อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ยากจะเข้าใจในสายตาคนไทย แต่ถ้าลองเปิดใจให้กว้าง คุณจะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ “หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์” สื่อผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างลึกซึ้งและเข้าถึงอารมณ์กว่าเพียงแค่การเต้นรำ 

การแสดงที่ดูเหมือนเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยพลังนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนจดจำศิลปินนักเต้นสาวสวยคนนี้ได้ จนอาจพูดได้ว่า “หลอดไฟ นวินดา” เป็นศิลปินนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในเวลานี้ นอกจากนี้เธอยังเป็นครูสอนศิลปะการเต้นร่วมสมัย ที่ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงในระดับประเทศ และกวาดรางวัลใหญ่ๆ มาเกือบทุกเวที  

เสียงชื่นชมและความสำเร็จที่เห็นในวันนี้ ไม่ใช่เพราะเธอคือลูกสาวคนเก่งของเจ้าของโรงเรียนบางกอกแดนซ์ที่มีชื่อเสียง “คุณวัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์” แต่หลอดไฟต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา จนเกือบจะถอดใจหลายครั้ง กว่าจะสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอมี “ต้นทุน” ที่ดีจากคุณแม่และคุณยายที่คอยเป็นกำลังใจให้เธอผ่านวันวารอันหนักหน่วงมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ   


เส้นทางนักเต้นที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ด้วยความเป็นทายาทของนักบัลเล่ต์ชื่อดังของเมืองไทย “คุณวัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์” ที่เกิดและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นนักเต้นกว่าเด็กหลายคน ทำให้คิดไปได้ว่าเส้นทางสายระบำของเธอคงจะสวยงามและโรยด้วยกลีบกุหลาบ ปราศจากขวากหนามใดๆ แต่ในความเป็นจริง กว่าจะได้มาซึ่งชื่อเสียงและความสำเร็จ เธอต้องแข่งขันกับนักเต้นด้วยกัน รวมถึงต่อสู้กับความรู้สึกอ่อนไหวของตัวเอง จนกระทั่งช่วงหนึ่งมีอาการ “ซึมเศร้า” จนเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจในการเป็นนักเต้นไปเลย

“ที่หลอดไฟมีวันนี้ได้ต้องขอบคุณคุณยาย ถ้าคุณยายไม่ฝืนหรือต่อสู้กับคุณตา ซึ่งเป็นทูตพาณิชย์อยู่ตอนนั้น คุณแม่ก็คงไม่ได้เรียนบัลเล่ต์” เธอเล่าย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งการเต้นรำยังไม่เป็นที่ยอมรับในเมืองไทย ไม่มีครอบครัวไหนส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนเต้นรำ รวมถึงครอบครัวปัจฉิมสวัสดิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจและทหาร แต่เพราะคุณยายเป็นผู้หญิงที่มีความคิดทันสมัย เป็นภรรยานักการทูต ได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก ทำให้คุณแม่ของเธอมีโอกาสเรียนบัลเล่ต์ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายนักเต้น ซึ่งถูกส่งต่อมาถึงรุ่นลูกอย่างเธอ

“คุณแม่เป็นคนนำแจ๊สแดนซ์เข้ามาในเมืองไทย แล้วก็เริ่มสร้างโรงเรียนบางกอกแดนซ์ขึ้นมา เพื่อทำให้คนเห็นว่าการเต้นไม่ใช่แค่การออกกำลังกายหรือเต้นแล้วสุขภาพดี แต่ศิลปะการเต้นมันลึกซึ้งกว่านั้น มันช่วยคนได้ในแง่ของจิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา”

แม้จะเกิดและเติบโตมากับสถาบันบางกอกแดนซ์ แต่คุณแม่ไม่เคยบังคับให้ลูกเรียนบัลเล่ต์เลย จนกระทั่งวันหนึ่งเธอเป็นฝ่ายเอ่ยปากอยากเรียน และเริ่มเรียนบัลเลต์ตอนอายุ 6 ขวบ ถึงจะเริ่มเรียนช้ากว่าเด็กคนอื่น แต่เธอก็ทำได้ดีสมกับมีสายเลือดศิลปิน จนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนักเรียนที่มีศักยภาพด้านการเต้น เข้าอบรมหลักสูตรการเต้นเข้มข้นในโครงการ Soloist รุ่น 1 เพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่สนามแข่งขันในเวทีต่างๆ ทำให้ทักษะการเต้นของเธอพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเจ้าตัวเองยังตกใจ ทำให้เธอเริ่มสนุกกับการเต้นในรูปแบบต่างๆ เหมือนว่าวตัวน้อยที่ติดลมบน เอาอะไรมาฉุดก็ไม่อยู่ ทำให้เธอตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองด้วยความมั่นใจ 

“ตอนนั้นหลอดไฟเรียนอยู่ที่ Shrewsbury International School เพื่อนคนอื่นก็เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย แต่หลอดไฟค่อนข้างเด็ดเดี่ยวและแน่วแน่มากว่าเราจะไปเรียนเต้น ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครเข้าใจเลย แต่หลอดไฟคิดว่าฉันชอบเต้น ฉันเต้นได้ดี เพราะอยู่ในโครงการนี้มาหลายปี เขาก็พาไปแข่งที่ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ แล้วก็ชนะมาตลอด ตอนนั้นมีการแข่งขันใหญ่อันหนึ่งชื่อว่า Asia Pacific Dance Competition 2009  มีนักเต้นจาก 10 ประเทศมาแข่งขันเต้นหลายประเภท เช่น บัลเล่ต์ แจ๊ส คอนเทมโพรารี่ หลอดไฟลงแข่งทุกประเภท แล้วก็ได้รางวัลสูงสุดของการแข่งขัน Aggregate Cup คะแนนรวมบุคคลสูงสุดจาก 10 ประเทศ เราก็เลยยิ่งมั่นใจว่าเราเก่ง อีโก้เยอะมาก (ยิ้ม) ก็เลยไปออดิชั่นด้วยความมั่นใจว่าฉันเต้นได้ดี แล้วเราก็ได้ เราก็ยิ่งมั่นใจว่าฉันมาทางนี้ถูกต้องแล้ว และคุณแม่ก็ซัพพอร์ตเต็มที่” 


เปิดประตูสู่โลกคอนเทมโพรารีที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

จากเด็กไทยที่พกความมั่นใจไปเต็มเปี่ยม เมื่อก้าวเข้าไปใน Victorian College of the Arts and Melbourne Conservatorium of Music เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จึงรู้ว่าเธอเป็นแค่ปลาตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยทัศนคติที่ดี กรอปกับความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้เธอรอดพ้นจากการสำลักน้ำมาได้

“หลอดไฟเลือกที่จะไปเรียนคอนเทมโพรารีแดนซ์ที่นั่น เพราะนึกว่าเรารู้ว่ามันคืออะไร แต่พอไปถึงปุ๊บมันเหมือนโดนโยนลงไปในมหาสมุทร มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลย โลกศิลปะมันกว้างกว่านั้นเยอะมาก ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุ 17-18 ปี ที่แค่ชนะเวทีการแข่งขันเต้นใหญ่ที่สุดอันหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ทุกอย่าง พอไปเรียนมันเหมือนเริ่มใหม่หมดเลย จากที่เคยอยู่แถวหน้ามาตลอด ต้องไปอยู่หางแถวใหม่เลย (หัวเราะ)”

เธอต้องเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคอนเทมโพรารีใหม่ทั้งหมด โยนอีโก้ทิ้งไป แล้วทำตัวเหมือนฟองน้ำดูดซับทุกอย่างให้ได้มากที่สุด นอกจากเสพงานศิลปะแล้ว เธอยังเรียนรู้วิถีชีวิตและความคิดของผู้คนที่นั่น โดยเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายเหมือนเด็กฝรั่งคนหนึ่ง ได้มีเวลาหยุดคิดและอยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำให้เธอเติบโตขึ้นทั้งความคิดและจิตวิญญาณ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้เธอไม่มีความกดดันในเรื่องการเรียนและการเข้าสังคมเหมือนเด็กเอเชียทั่วไป แถมยังได้รับการยอมรับจากเพื่อนต่างชาติอีกด้วย 

“หลอดไฟไม่ได้บอกใครว่าครอบครัวเราทำอะไร เพราะหลอดไฟอยากให้เขาคอมเม้นต์เราแบบเป็นกลาง เขาไม่รู้จักหลอดไฟ ไม่รู้ว่าเราเทรนนิ่งมายังไง หลายอย่างหลอดไฟต้องแก้ใหม่ ขนาดบัลเลต์ที่หลอดไฟเรียนจบสูงสุดของ Royal Academy of Dance และได้เกียรตินิยมด้วย เรายังโดนแก้ เพราะบัลเล่ต์ที่หลอดไฟเรียนมากับแนวทางที่เราไปเจอมันเป็นคนละแนวกัน เราก็แค่ต้องยอมรับมัน แล้วก็เลือกเอาว่าเราชอบที่จะทำแนวไหน แล้วแนวไหนมันดีกับร่างกายเรามากกว่ากัน”

 การเรียนเต้นไม่ได้ง่ายหรือสนุกอย่างที่หลายคนคิดเลย ถ้าไม่มีความมุ่งมั่น อาจถอดใจได้ง่ายๆ เพราะการเรียนที่หนักไม่แพ้มหาวิทยาลัยทั่วไปหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะต้องเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ  “หลอดไฟเรียนเต้นจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นทุกวัน แล้วก็ต้องเขียนบทความเยอะมาก โดยใช้เวลาหลังจากที่เราพยายามลากตัวเองกลับบ้าน ด้วยร่างกายที่ยับเยินจากการเต้นมาทั้งวัน แล้วอยู่อย่างนี้ 3 ปี จำได้ว่าปี 2 โทรบอกแม่ว่า หลอดไฟไม่ไหวแล้ว เข้าใจแล้วที่แม่บอกว่าคนที่ไปเรียนเต้นทำไมเรียนไม่จบ เพราะมันเหนื่อยจริงๆ พอปี 3 เราก็เริ่มหาบาลานซ์ของเราได้

และก่อนจบภาคเรียนทุกปี เราจะต้องทำโชว์ (Final Performance) ที่ทำงานกับโคโรกราฟเฟอร์ที่โน่น ได้เรียนรู้วิธีการทำงานว่าเวลาคิดงานต้องทำยังไง การทำโชว์เหมือนเราเป็นครีเอทีฟ เราต้องผ่านการตกผลึกทางด้านความคิด เราต้องคิดให้ได้ว่าเราดีไซน์ท่าเต้นนี้ เราสื่อถึงอะไร ในคลาสหนึ่งครูจะให้โจทย์มา แต่งานที่ออกมาจะไม่เหมือนกัน เราต้องออกแบบท่าเต้น ทำดนตรี เสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก ทุกอย่างในหนึ่งโชว์” เธออธิบายถึงการสร้างงานคอนเทมโพรารี่ว่า “คุณจะไปเอาไอเดียจากที่ไหนก็ได้ คุณไม่ต้องเอาเพลงนำเหมือนบัลเล่ต์แบบดั้งเดิม หรือทำอะไรที่มันมีแบบแผน ต้องเต้นเพลงนี้ คุณไม่จำเป็นต้องเต้นตรงจังหวะ คุณไม่จำเป็นต้องแสดงบนเวที คุณแสดงบนถนนก็ได้ คุณแสดงในป่าก็ได้ คุณใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ คุณอยากจะเอ็กซ์เพรสอะไรหรือพูดอะไรก็ได้ โดยการเล่าเรื่องในวิธีของคุณ  ซึ่งวิธีที่จะทำให้คนเข้าถึงหรือให้งานประสบความสำเร็จ คุณก็ต้องใช้การฝึกฝนและหาแนวทางของตัวเอง คุณจะเสนองานเป็นแนวไหนก็ได้ เพราะว่ามันไม่มีสูตรตายตัว”

3 ปีที่ทุ่มเทให้กับการเต้น ทำให้เธอค้นพบว่า “คอนเทมโพรารี” เป็นแนวทางที่เธอชื่นชอบ เพราะเป็นการเต้นที่ให้อิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายและอารมณ์ และการได้คิดนอกกรอบทำให้ผลงานของเธอโดดเด่นและประสบความสำเร็จ จนทำให้เธอจบออกมาด้วยคะแนนที่น่าพอใจ 

“สิ่งที่ช่วยให้หลอดไฟคิดแบบนี้ได้คือคุณแม่เลย เพราะว่าคุณแม่เป็นคนคิดนอกกรอบมาก ไม่งั้นคุณแม่คงไม่สร้างที่นี่ (สถาบันบางกอกแดนซ์) เราก็เลยรู้สึกว่าเรากล้านอกกรอบ พอเราเริ่มนอกกรอบในไอเดียเรา เราก็จะโดดเด่นขึ้นมาในคลาส บวกกับหลอดไฟเป็นคนโครงใหญ่ เราเต้นดี เทคนิคดี เพราะกายภาพและยีนส์ของคนเอเชียจะมีความยืดหยุ่นกว่าคนยุโรป ทำให้การเต้นของเราพลิ้วไหวกว่า แต่ก็มีข้อเสียตรงที่แข็งแรงน้อยกว่า ซึ่งเราต้องสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่งั้นเราจะบาดเจ็บได้ ทำให้เราจบด้วยคะแนนที่ค่อนข้างสูงของชั้นเรียน”

 

เกือบเลิกเต้นเพราะไม่มีใครเข้าใจ!  

ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ไฟแรงมาก เราอยากกลับมาแชร์ทุกสิ่งที่เราไปเห็นมา แต่ว่าไม่มีใครเข้าใจเลย เพราะว่าเรายังไม่มีวิธีที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เราเรียนรู้ให้เขาเข้าใจ ก็รู้สึกตกใจกับมันเหมือนกัน ทั้งที่คุณแม่ก็มีโรงเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าต้องทำยังไงกับมันต่อ” นั่นคือความรู้สึกของเธอหลังจากกลับมาเมืองไทยได้ไม่นาน ทำให้เกิดอาการ “ซึมเศร้า” เป็นครั้งแรก

“หลอดไฟกลายเป็นซึมเศร้าไปเลย คือไม่ได้โดนวินิจฉัยว่าเป็นนะคะ แต่หลอดไฟเชื่อตอนนั้น มันเป็นสัญญานของคนที่จะเริ่มเป็นแล้ว คือหลอดไฟมาสอน เปิดคลาส เปิดเวิร์คชอปเยอะมาก กับเด็กกับครูที่นี่ แต่ด้วยความที่เราไฟแรงมาก แล้วการแสดงออกของเราไม่บาลานซ์ มันก็เลยกลายเป็นว่าเราติสต์มากจนคนเริ่มถอย เลยกลายเป็นว่าทำไมมันยากจังเลย ทำไมแม่เราก็ยังไม่เข้าใจ หลอดไฟแบบซึมเศร้าไปเลย จากที่เต้นมา 21  ปี กลายเป็นว่าไม่เต้นไปเกือบปี แล้วก็อยู่แต่บ้าน ออกไปสอนบ้าง เป็นแบบนี้อยู่ 7-8 เดือน”

9 เดือนกับโปรแกรม Soft Landing ปลดล็อกความกลัว!   

ช่วงที่กำลังสับสนกับตัวเอง เกิดคำถามมากมาย “นี่เราไม่ชอบมันแล้วหรือเปล่า, หรือที่เราเต้นมาทั้งชีวิตเพราะพ่อแม่รึเปล่า, หรือแค่เราทำได้ดีเราเลยรู้สึกเราอยากทำมัน” ฯลฯ ทำให้เธอตัดสินใจหาคำตอบด้วยการเขียนจดหมายไปออดิชั่น เข้าโปรแกรม Soft Landing Intensive หลักสูตรพัฒนาระดับวิชาชีพชั้นสูงที่ QL2 Dance Inc. เมืองแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย 

“มันเป็นคอร์สพิเศษที่ดีไซน์สำหรับคนเรียนเต้นที่เพิ่งจบออกมา เพราะเขารู้ว่ามันจะยากสำหรับนักเต้นทุกคน คือ 70-80% ของคนที่เรียนจบเต้นมาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเอ้าท์เลทของตัวเองจะไปอยู่ที่ไหน เขาเลยดีไซน์คอร์สนี้มาสำหรับคนแบบหลอดไฟโดยเฉพาะเลย แล้วหลอดไฟก็โชคดีมากที่เขาเลือกเราเป็น 1 ใน 9 คนที่ได้ไปเวิร์คช้อป 1 เดือน

หลอดไฟไปอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือน ร้องไห้ทั้งเดือน 9 คนที่ไปทุกคนมีปัญหาแตกต่างกัน ก็ร้องไห้กันหมด เต้นไปร้องไห้ไป จำได้ว่าในทอล์คครั้งหนึ่งหลอดไฟบอกเมนเทอร์ว่า คิดว่าไม่ชอบมันแล้ว เขาบอกว่าหลอดไฟยูถามตัวเองดีๆ ว่าตอนนี้ยูไม่ชอบเต้นหรือยูแค่กลัวอะไรบางอย่าง หลอดไฟก็เลยอ๋อ หลอดไฟอาจจะกลัว กลัวว่าจะไม่สำเร็จ หลอดไฟกลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ ที่นี่ เรากลัวที่มันจะพัง ก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ชอบมันไปเลย ซึ่งหลอดไฟโกรธตัวเองนิดหนึ่งว่าอ๋อมันมาจากความกลัวของเรานี่เอง มันเหมือนปลดล็อกหลายๆ อย่างของหลอดไฟ

วันสุดท้ายมันจะเป็นโชว์แล้ว 9 คนแสดงด้วยกัน แต่ไม่ได้เซ็ทว่าใครต้องทำอะไรเป๊ะๆ เหมือนอิมโพรไวซ์ ไปตามโมเม้นท์นั้น วันนั้นหลอดไฟร้องไห้ทั้งวันเลย โทรหาแม่หลายรอบมาก บอกแม่ว่าหลอดไฟรักแม่นะ หลอดไฟอยากทำด้วยตัวเอง ไม่อยากเป็นเงาของแม่อีกแล้ว เหมือนปมนี้มันเพิ่งออกมา แล้วก็ปมเรื่องพ่อด้วย ที่พ่อไม่ได้ยอมรับสิ่งที่เราทำหลายๆ อย่าง จนถึงวินาทีก่อนจะแสดงหลอดไฟก็หยุดร้องไห้ไม่ได้ อาจารย์เขาก็พูดว่าใช้มันสิ ใช้มันในการแสดง หลอดไฟก็เลยใช้อารมณ์นั้นผ่านการแสดง หลอดไฟก็ขึ้นเวทีไปแล้วก็ร้องไห้ตลอดเวลาแล้วก็เต้นไปด้วย 

มีอยู่ช่วงหนึ่งหลอดไฟพูดกับคนดูเป็นภาษาไทยเลย พูดสิ่งที่เราอยากพูดจริงๆ ผู้ชมก็ไม่เข้าใจเลยว่าหลอดไฟพูดอะไร แต่ว่าเขาร้องไห้น้ำตาไหลพราก เพื่อนๆ ก็เปลี่ยนแปลงโชว์ทั้งหมดให้เป็นโชว์ของหลอดไฟเลย แล้วก็วิ่งไปเอากระดาษทิชชู่ 20 ม้วนมาพันตัวหลอดไฟ ยกหลอดไฟขึ้น มาจับเท้าหลอดไฟ ให้ความรักหลอดไฟ กลายเป็นงานศิลปะอย่างอื่นไปเลย โมเม้นต์นั้นเลยรู้สึกว่า อ๋อ จริงๆ แล้วถ้าจะเป็นงานศิลปะที่ดี คุณแค่ต้องจริงใจกับสิ่งที่คุณกำลังสื่อสาร เพราะว่าฝรั่งพวกนี้เขาไม่เข้าใจที่หลอดไฟพูดเลย เขาเห็นหลอดไฟโกชัวร์อะไรบางอย่างที่ค่อนข้างจริงมากและดีมากของชีวิตหลอดไฟแน่ๆ เลยมีคอนเนคชั่นกับหลอดไฟขนาดนี้”

เปิดประสบการณ์ใหม่กับ DANCE WEB เทศกาลเต้นคอมเทมโพรารี่ที่ใหญ่ที่สุด

หลังกลับมาพร้อมไฟที่เต็มเปี่ยม เธอก็เดินหน้าขอทุนเพื่อเข้าร่วมโปรแกรม DANCE WEB ซึ่งเป็นเทศกาลเต้นคอนเทมโพรารี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Impuls Tanz-Vienna International Dance ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งคนที่ได้รับทุนนี้จะต้องหาทุนในประเทศตัวเองอีก 30%  ซึ่งเธอก็ได้รับทุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ได้เป็น 1 ใน 60 นักเต้นจากทั่วโลกที่ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมนี้เมื่อปี 2557

“ตอนแรกที่ไปเรียนคนขาวทำอะไรเราก็ทำ เพราะเรารู้สึกว่าเราตามหลังตลอดเวลา อย่างเขาไปวิ่งแก้ผ้า หลอดไฟก็ไปวิ่งแก้ผ้าอยู่สักพักหนึ่ง หลอดไฟก็โทรถามแม่ว่าหลอดไฟรู้สึกไม่ใช่แนวของตัวเอง คือในหัวคิดตลอดว่าแม่กับพ่อจะคิดยังไง มันก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่รู้สึกสนุกที่จะทำแบบนั้น ผ่านไปสักครึ่งหนึ่งของคอร์ส เราก็เริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามคนขาวตลอดเวลาก็ได้ เราเป็นคนเอเชียแค่ 3 ใน 60 คน ทำไมคุณไม่ใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ละ หลอดไฟก็เลยเลิกวิ่งแก้ผ้า แล้วก็มาโฟกัสเรื่องตัวเองมากขึ้น แล้วก็เข้าคลาสที่เป็นแนวเรามากขึ้น ก็เลยปลดล็อกว่าเราต้องเลิกทำตามคนขาวได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่วิธีที่เราโดนเลี้ยงดูมา มันไม่ใช่ตัวตนเรา

พอจบตรงนั้นหลอดไฟก็ขอคุณแม่ไปแบกแพ็คคนเดียวอีก 2 เดือน ไปดูงานอาร์ต อยู่คนเดียว ไปนอนโฮสเทลรวมกับผู้ชายอีกสิบคนที่ไม่รู้จัก ทุกคนมาค้นหาชีวิต แม่ก็น่ารักมาก ยอมให้หลอดไฟไปแบกแพ็คคนเดียวรอบยุโรป หลอดไฟก็โทรคุยกับคุณแม่ตลอดเวลาว่าตอนนี้จิตใจหลอดไฟเป็นยังไง”

ระหว่างเดินทางค้นหาตัวเองว่าจะทำอะไรต่อ ระหว่างอยู่ต่างประเทศ สร้างสรรค์งานในฐานะศิลปินคอนเทมโพรารีอย่างที่ตัวเองชอบ กับกลับเมืองไทยเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรักกับกับเด็กไทย และสานต่อโรงเรียนของคุณแม่ เธอก็ได้คำตอบว่า “หลอดไฟตัดสินใจกลับเมืองไทย เพราะว่าแม่เราอยู่ที่นั่น โรงเรียนเราอยู่ที่นั่น ถ้าอยู่ที่นี่เราแค่ทำให้ตัวเราเอง แต่ถ้าอยู่เมืองไทย มันเป็นเหมือนกระดาษขาวโล่งๆ ที่เราไม่ใช่แค่เขียนอะไรลงไปก็ได้ แต่เราพับเป็นรูปอะไรก็ได้ มันน่าตื่นเต้นนะ แค่เราต้องรู้ว่าเราจะถ่ายทอดความคิดของเราไปยังไง เรามีนักเรียนที่บางกอกแดนซ์เป็นพันคนที่เขาพร้อมจะรับเรา สุดท้ายเราก็ตัดสินใจกลับมา”

 

คุณครูหลอดไฟกับมิติใหม่ของสถาบัน “บางกอกแดนซ์”      

เมื่อตัดสินใจว่าจะกลับมาสานต่อธุรกิจที่เป็นความฝันของครอบครัว พร้อมกับทำงานด้านคอนเทมโพรารีแดนซ์ไปด้วย ครูหลอดไฟก็เริ่มเปิดสอน Creative Class ขึ้นมา “ตอนนั้นพ่อแม่เด็กก็จะงงๆ ว่าครูหลอดไฟสอนอะไร คือหลอดไฟพยายามจะสอนให้เด็กรู้สึกว่าการคิดนอกกรอบมันไม่เป็นไร เพราะหลอดไฟสังเกตว่าเด็กไทยไม่กล้าเอ็กซ์เพรสสิ่งที่ตัวเองคิด เพราะถ้าคุณแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือต่อต้านกับสิ่งที่ครูบอก คุณจะกลายเป็นคนก้าวร้าว เด็กก็เลยมีครีเอทีฟน้อยลง แล้วมันจะมีปัญหากับเขาเวลาทำงาน หลอดไฟรู้สึกว่าคลาสหลอดไฟมันช่วยมากในการที่ให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก แล้วพ่อแม่ก็เริ่มเห็นข้อดีของการเต้น เพราะเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกเขาภายในเวลาแค่ปีเดียว” 

ปัจจุบันวิชาที่ครูหลดไฟสอน คือ Contemporary, Ballet, Improvisation, Body Conditioning ที่สถาบันบางกอกแดนซ์ สาขา Zen Word

เปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันคอนเทมโพรารี่

นอกจากทำหน้าที่ครูแล้วเธอยังทำหน้าที่เป็น “นักปั้น” ส่งเด็กเข้าประกวดเวทีต่างๆ เหมือนสมัยที่เคยแข่งขัน “เวลาส่งเด็กแข่งขันหลอดไฟจะเป็นคนแต่งท่าตลอด (Choreography) แล้วเด็กของหลอดไฟก็จะชนะทุกเวที เพราะหลอดไฟรู้ว่าระบำที่ดีจะต้องทำยังไง คุณไม่ต้องเตะขา 300 ครั้งแล้วหมุนตัวกระโดดตลอดเวลา คุณใส่ความน่าสนใจอย่างอื่นเข้าไปในระบำของคุณก็ได้ หลอดไฟค่อนข้างเปลี่ยนโฉมวิธีการทำระบำแข่งขันของทั่วประเทศเหมือนกันนะ ตอนนี้ 10 ประเทศที่มาแข่งเขาก็จะจ้องแล้วว่าปีนี้หลอดไฟจะทำอะไร” 

ด้วยโชว์ที่แปลกใหม่และโดดเด่นทำให้กวาดรางวัลมาได้ทุกปี อาทิ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการออกแบบท่าเต้นการแสดงชุด Terrarium จากการแข่งขัน Asia-Pacific Dance Competition ครั้งที่ 19 ประเทศมาเลเซีย, รางวัล ‘President Cup’ Awarded to the Most Unique Troupe Choreography Over the Competition การออกแบบท่าเต้นจากระบำชุด Contemporary Troupe 15 & up ในการแข่งขัน Asia-Pacific Dance Competition ครั้งที่ 21 

บรรยากาศการสอบเต้นวัดระดับประจำปีของหลักสูตรระดับนานาชาติ สถาบัน Commonwealth Society of Teachers of Dancing (C.S.T.D) จากประเทศออสเตรเลีย

“ตอนนี้ทุกคนเริ่มทำตามว่าหลอดไฟทำอะไร หลอดไฟก็จะหนีไปเรื่อยๆ ซึ่งหลอดไฟก็แฮปปี้ในการที่จะหนีนะ เพราะเป็นการพุชเพดานตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ในฐานะนักคิด เราก็พยายามที่จะหาแนวทางใหม่ตลอดเวลาในการพัฒนาเด็ก ปีหน้าหลอดไฟจะมีทัวร์ไปสอนรอบเอเชียแปซิฟิก 3 อาทิตย์ 10 เมือง เช่น สิงคโปร์ เมลเบิร์น ฯลฯ จัดโดย CSTD ซึ่งเป็นสถาบันที่หลอดไฟส่งเด็กแข่งขันชนะตลอด เขาเห็นแล้วว่าคนนี้ไม่ธรรมดานะ ทุกประเทศเลยขอให้หลอดไฟไปสอนให้หน่อยว่าคิดท่ายังไง ออกาไนซ์ใหญ่ก็เลยรวบรวมทุนจากทุกประเทศเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้หลอดไฟไปสอน” 

นอกจากบทบาทครูแล้ว หลอดไฟยังเป็นศิลปินและนักออกแบบท่าเต้นที่ได้รับการยอมรับจากหลายๆ สถาบัน ทำให้เธอได้ทุนสนับสนุนจากองค์การรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ในการสร้างสรรค์และกำกับงานแสดงร่วมสมัยกับศิลปินจากทั่วโลกและได้นำไปเผยแพร่ในเทศกาลต่างๆ เช่น Busan International Dance Market, Bangkok Design Festival, Wonderfruit Festival, Freeform Festival ที่ประเทศไทย ออสเตรเลีย เกาหลี สิงค์โปร ฮ่องกง มาเลเซีย เป็นต้น และยังร่วมแสดงกับกลุ่มศิลปินและผู้ออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย 

 

คอนเทมโพรารีในแบบของหลอดไฟ

แม้คอนเทมโพรารีจะให้อิสระในการออกแบบท่าเต้น และการสื่อสารผ่านร่างกายได้อย่างเสรี จนบางทีก็ดูเหมือนจะเข้าใจยาก แต่หลอดไฟเลือกที่จะนำเสนอในรูปแบบของตัวเองและเหมาะกับสังคมไทยมากกว่า 

การแสดงจากสถาบันบางกอกแดนซ์ในชุด “Ripple Effect” ที่ได้คว้ารางวัลออกอบบท่าเต้นดีเด่นจากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 21 ออกแบบท่าเต้นโดยครูหลอดไฟ นวินดา

“งานของหลอดไฟดูไม่ยากนะ แต่ว่าคนที่มาดูต้องเปิดใจเหมือนกัน ส่วนใหญ่ภาพที่สื่อออกไป หลอดไฟจะทำให้มันค่อนข้างเป็นกลาง คือยังมีความสวยงามอยู่ ยังไงคนก็ยังชอบความสวยงาม ถ้าเราใส่ความสวยงามเข้าไปในระดับหนึ่งที่ตัวเรารับได้ หลอดไฟคิดว่ามันจะดึงคนเข้ามา แล้วพอคนเข้ามาด้วยความรู้สึกว่าเขาเปิดใจ มันอาจจะมีความสวยงามเกิดขึ้น แล้วสตรัคเจอร์ที่หลอดไฟทำงานกับสถาปนิกทุกอันสวยหมด คุณเสพตัวสตรัคเจอร์เฉยๆ มันก็สวยแล้ว ทุกอย่างมันสมมาตร มันไม่สะเปะสะปะ เพราะหลอดไฟไม่ชอบงานเละ เราเป็นคนเป๊ะ แล้วเราก็โตมาแบบนี้ เราก็แค่ใส่เข้าไปในงานของเรา ศิลปินคนอื่นอาจจะคิดว่ามันดูไม่อาร์ตพอ แต่หลอดไฟแฮปปี้ที่จะทำแบบนี้ นี่คือเป็นแนวทางของเรา”

จุดเด่นอย่างหนึ่งในงานของเธอคือนำศิลปะหลายแขนง อาทิ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง ฯลฯ มาผสมผสานกับการเต้นแบบร่วมสมัยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวรอบตัว “หลอดไฟชอบทำงานกับศิลปินที่ไม่ได้ทำงานเต้นโดยตรง เพราะเราจะได้ Perspective แบบหนึ่ง” เช่น Human การแสดงเต้นแนวร่วมสมัยผสมผสานกับผลงานสถาปัตยกรรม ปี 2017 ที่เธอเล่าเรื่องคุณยายที่เธอรักและผูกพันผ่านกระจกได้อย่างงดงาม 

“ตอนที่คุณยายเสีย หลอดไฟทำหนังสืออนุสรณ์ให้คุณยาย ก็เอารูปคุณยายตั้งแต่เริ่มชีวิตจนจบชีวิตมาวางบนโต๊ะ หลอดไฟยืนดูอยู่สักพักหนึ่ง อ๋อ ชีวิตคนเรามันแค่นี้เหรอ คุณยายทำอะไรบ้างในหนึ่งโต๊ะ ซึ่งคุณยายเป็นซูเปอร์วูแมนมาก คุณยายเคยตัดผมให้พระราชินี คุณยายเป็นทีมแบดมินตันทีมแรกของประเทศไทย โมเม้นต์ต่างๆ ที่เราเห็นคุณยาย มันคือโมเม้นต์ที่คุณใส่เข้าไปในชีวิตคุณ สุดท้ายจุดจบมันคือขอบโต๊ะกระจกเหมือนกัน ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าผ่านกระจก 30 บาน เป็นโครงสร้างที่เราทำงานร่วมกับสถาปนิก พอแขวนกระจกตอนจบมันเป็นโครงสร้างรูปโค้ง คนดูจะเห็นตัวเองอยู่ในกระจกทุกบาน เป็นทุกความทรงจำของคุณ” 

จะเห็นว่าผลงานของเธอส่วนใหญ่จะเป็นงานโครงสร้างที่ทำร่วมกับสถาปนิก ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมากจากตอนที่ไปแบกแพ็กที่เบอร์ลิน และได้พบกับสถาปนิกรุ่นพี่คนหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของเธอและนำมาใช้ในการโชว์ของตัวเอง “หลอดไฟไม่เคยเข้าใจว่าสถาปนิกเขาทำอะไร จนกระทั่งเขาพาหลอดไปเที่ยวแบบสถาปนิก เขาชี้ให้หลอดไฟดูมุมตึกตรงนั้นที่แสงอาทิตย์ส่องมาแล้วมันเป็นเงาที่พื้น มุมมองสถาปนิกของหลอดไฟเปลี่ยนไปเลย เขาไม่ได้เป็นนักคำนวณสร้างตึกไม่ให้ล้ม แต่เขาเป็นนักออกแบบ เขาเป็นศิลปินที่อยู่ในโลกความเป็นจริง ถ้าหลอดไฟทำงานกับเพ้นเตอร์ อาจจะพากันไปไหนไม่รู้ แต่พวกสถาปนิกเขาจะมีแบบแผนอยู่พอสมควร เขามีตรรกะ ซึ่งหลอดไฟเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว หลอดไฟชอบทั้งอาร์ตและตรรกะ หลอดไฟรู้สึกว่ามันเป็นจุดแข็งของหลอดไฟ” 

ปลายปีนี้เธอจะมีการแสดงอีกครั้งที่ Wonderfruit Festival 2019 พัทยา ซึ่งเป็นการแสดงเต้นร่วมสมัยผสมผสานกับผลงานสถาปัตยกรรมเช่นกัน “ระหว่างที่เราแสดง เราสร้างโครงสร้างนี้ไปด้วย พอสุดท้าย Final Product จะเป็นโครงสร้างที่เหลือทิ้งไว้ตรงนั้น” หลังจากนั้นเธอจะหาทุนเพื่อนำการแสดงชุดนี้มาแสดงที่กรุงเทพฯ ให้ทุกคนได้ชมกันอีกครั้ง

ผลงานคอนเทมโพรารีที่โดดเด่นของเธอ อาทิ  Secret Keeper – Bangkok Art and Culture Center 2014, O2 –  Asia Pacific Dance Competition 2015,  Metasystems – Urban Templates 2015, Public Space Improvisation – Hua Lum Pong Station 2016, Body and Space – Chulalongkorn University 2016, Fractals – Wonderfruit Festival 2016, Genesis – Wonderfruit Festival 2017, Human – FreeForm Festival 2017, ZOETIC Contemporary Dance and Movement Performance – Asa Expo 2018

 

ศิลปะการเต้นคอนเทมโพรารี่ในเมืองไทย

มาตรฐานการเต้นคอมเทมโพรารีของคนไทยดีขึ้นเยอะค่ะ แต่ว่าของปลอมมันก็เยอะตามมาด้วย ตอนนี้การเต้นคอนเทมโพรารีมันชิคแล้ว ใครเต้นคอนเทมโพรารีคืออินเทรนด์ แต่ที่หลอดไฟดูคือไม่ใช่คอนเทมโพรารี คุณไม่ได้ไตร่ตรองอะไรมา คุณแค่ไปจำมา มันจะเรียกว่า lyrical dance มากกว่า คือการเต้นประกอบเนื้อเพลง เวลาใครใช้อารมณ์เยอะๆ เขาจะเรียกตัวเองว่าคอนเทมโพรารี แต่มันไม่ใช่ มันแค่เต้นตามเนื้อเพลง เนื้อเพลงร้องว่าอะไร คุณก็ทำอารมณ์ตามเนื้อเพลง คุณไม่ได้ไตร่ตรอง คุณแค่เอาท่าที่คุณรู้อยู่แล้วมาเรียงใหม่ เหมือนจับเลโก้ที่ตัวเองมีมาต่อใหม่ และคิดว่านี่คือท่าใหม่ แต่จริงๆ แล้วสำหรับหลอดไฟ คุณใช้เลโก้ไม่ได้แล้ว คุณต้องหาของเล่นชิ้นใหม่เลย ถ้าคุณใช้เลโก้อยู่แสดงว่าคุณยังก๊อปอยู่

คอนเทมโพรารี่ในเมืองไทยตอนนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับขึ้น มีพี่ๆ หลายคนที่หลอดไฟรู้จักเขาก็ทำอยู่ แล้วเด็กๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ามันคืออะไร แต่มันมีของจริง ของปลอม ก็แล้วแต่ว่าคุณจะไปเจออะไร เด็กบางคนอยากเรียนคอมเทมโพรารี แต่ไปเจอไลริคัลแดนซ์แล้วเข้าใจว่าเป็นคอนเทมโพรารี ซึ่งหลอดไฟก็เคยเป็นแบบนั้น แต่พอเราไปเรียนเราถึงได้เข้าใจว่า อ๋อ เต้นตามเนื้อเพลงมันตื้นมาก จริงๆ มันต้องลงลึกกว่านั้นเยอะกับความรู้สึกกับอารมณ์และสิ่งที่อยากสื่อสารออกไป

 

Creative Director สถาบันบางกอกแดนซ์

อีกหนึ่งบทบาทที่เธอสวมคือสานต่อธุรกิจสถาบันบางกอกแดนซ์ที่คุณแม่สร้างมาเกือบ 30 ปี ในฐานะ Creative Director ของสถาบันฯ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 12 สาขา 

หลอดไฟเคยคุยกับน้องสาว (นีออน-วนาลิน) ว่าการรับช่วงต่อธุรกิจมันเป็นศิลปะอันหนึ่งเลย มันไม่ง่ายนะ บางบ้านที่พ่อแม่ไม่มีธุรกิจมันโชคดีจังเลย ไม่ได้รับแรงกดกันว่าคุณจะต้องมาทำแล้วต้องทำให้ดีกว่าเดิม ห้ามเจ๊ง มันท้าทายมาก อย่าคิดว่าคนได้รับธุรกิจต่อมันจะดีเสมอไป มันยากพอสมควรเลย (หัวเราะ) แล้วที่ผ่านมาคุณแม่ทำไว้ดีอยู่แล้ว หลอดไฟก็แค่มาทำให้มันดีขึ้นในบางเรื่อง แล้วก็ปรับเปลี่ยนบางอย่างให้มันทันสมัยขึ้น แล้วก็ทำให้มันมีเงินเข้ามากขึ้น จริงๆ คุณแม่เป็นศิลปินพอสมควร บางงานเข้าเนื้อไม่เป็นไร แต่ว่าเด็กมีความสุข เราบอกแม่ไม่ได้นะ (หัวเราะ) กลายเป็นว่าหลอดไฟมีความเป็นนักธุรกิจมากกว่าคุณแม่ด้วยซ้ำ ทั้งที่เราเป็นศิลปินกว่า ก็พยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้มันแฮปปี้ทุกคน”

 

ภูมิใจที่เป็นลูกคุณแม่ 

“หลอดไฟได้ฟังมาเยอะมากว่า หลอดไฟเก่งเพราะเป็นลูกแม่ ได้โอกาสเพราะเป็นลูกแม่ ได้ทุนโน่นทุ่นนี้เพราะเป็นลูกแม่ แต่แม่จะพูดตลอดว่า “เวลาและผลงานมันจะพิสูจน์เอง” ซึ่งหลอดไฟก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่างานทุกงานหรือฟีดแบกจากงานหลอดไฟทั้งหมด หลอดไฟทำด้วยตัวเอง เพราะรางวัลมันก็ไม่ได้บอกว่าเป็นลูกแม่ต้อยทำ เรารู้สึกขอบคุณมากกว่าที่ได้เป็นลูกคุณแม่ ตอนแรกมันก็เป็นความกลัวนะ เราไม่อยากอยู่ใต้เงาเขา แต่พอเรามาทำจริงๆ แม่ไม่ได้มาเบียดเบียนอะไรชีวิตเราไปเลย หลอดไปอยากไปไหนคนเดียว อยากทำงานนี้คนเดียว แม่ก็ให้ไป อยากทำงานไหน อยากจะพูดเรื่องคุณยายก็พูดไปสิ แม่แทบไม่เข้ามายุ่งเลย ถ้าหลอดไฟต้องความช่วยเหลือจริงๆ แม่ถึงจะช่วย คุณแม่เหมือนมองอยู่ห่างๆ ให้เกียรติหลอดไฟพอสมควร ตั้งแต่แรกแล้วแม่ไม่เคยบังคับว่าหลอดไฟต้องเต้น แล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ถึงปัจจุบัน อย่างตอนกลับมาใหม่ๆ คุณแม่ก็งงเหมือนกันว่าเราไปเรียนอะไร เพราะคอนเทมโพรารีมันใหม่มากตอนนั้น แต่คุณแม่ก็เปิดใจที่จะเรียนรู้มัน”      

หาจุดบาลานซ์ 3 บทบาท : นักเต้น คุณครู และผู้บริหาร 

“หลอดไฟชอบทุกบทบาท แต่ในสัดส่วนไม่เท่ากัน หลอดไฟชอบนักเต้นกับนักออกแบบท่าเต้น เพราะเราได้เอ็กซ์เพรสสิ่งที่เราคิด และมันเป็นจุดปลดปล่อยของเรา หลอดไฟโชคดีที่ได้ทำงานศิลปะ แล้วมีคนมาฟังหลอดไฟเยอะ เหมือนเราได้ขยายเสียงออกไป แล้วไม่ใช่ขยายเสียงธรรมดา มันเป็นสิ่งที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว 

ส่วนการเป็นครู หลอดไฟได้พัฒนาเด็กในแนวทางที่โรงเรียนทั่วไปไม่สามารถให้เขาได้ แล้วเราก็รู้สึกเหมือนได้ทำบุญ เหมือนว่าเราได้ช่วยอนาคตเด็กคนนี้ให้เขาเป็นอะไรบางอย่าง เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะเต้นต่อหรือไม่เต้นต่อ แต่ว่ารู้ว่าเขาเปลี่ยนแปลง แล้วเรามีรีเลชั่นชิพที่ดีมากกับเด็กๆ เขาจะลุคอัพครูหลอดไฟมากว่านี่คือสิ่งที่เขาอยากเป็นในอนาคต เป็นโรลโมเดลของเขา บางเรื่องเขาก็ไม่ไปปรึกษาพ่อแม่นะ เขามาปรึกษาหลอดไฟ เรารู้สึกว่าแวลูในชีวิตเรามันช่วยคนได้ช่วยเด็กๆ ได้

ส่วนบทบาทผู้บริหารมันคล้ายกับนักเต้น มันได้ครีเอท แล้วหลอดไฟโชคดีที่เป็นคุณลูกคุณแม่ เราพูดอะไรคนก็จะฟังทันที เราก็สามารถฟอร์มอะไรให้มันเป็นแนวทางที่ใหม่ขึ้น การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณแม่ทำมาดีอยู่แล้วมันก็เป็นเรื่องท้าทายนะคะ เช่น โลโก้สถาบันเปลี่ยนได้รึยัง เพราะมันใช้มา 30 ปี แล้ว เราก็ต้องไฟท์ในที่ประชุม การบริหารของหลอดไฟเหมือนหลอดไฟเป็นนักออกแบบใหม่ สร้างระบบใหม่ มันก็สนุกดี แต่ถามว่าเครียดไหม เครียด เพราะไม่ได้ทำงานกับนักเรียน ศิลปิน แต่ทำงานกับพนักงานบริษัท สิ่งที่ยากสำหรับหลอดไฟคือปัญหาเรื่องคน เราจะทำยังไงให้เขาไม่คิดว่าเราตรงไป คนจะกลัวหลอดไฟ เพราะเป็นคนตรงจังเลย พยายามหาวิธีที่ถูกต้องที่เราจะไม่กลายเป็นเขาในวันหนึ่ง แล้วเราก็ดึงตัวเองกลับมาให้ยังเป็นเรา อะไรแบบนี้”  

นักเต้นสถาบันบางกอกแดนซ์ ได้รับเชิญแสดง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35
นักเต้นสถาบันบางกอกแดนซ์ ได้รับเชิญแสดง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35

ความฝันอันสูงสุดของชีวิตหลอดไฟ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อยากมีคณะของตัวเอง เป็นคณะที่รัฐบาลหรือองค์กรใหญ่ๆ สนับสนุน นักเต้นทุกคนจะได้รับเงินเดือนทุกเดือน ตอนนี้ก็ยังอยากมีอันนั้นอยู่นะคะ แต่อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากสวมหมวกโคโรกราฟเฟอร์แบบเต็มๆ แล้วก็ไปโคโรกราฟให้กับคณะเต้นที่ต่างประเทศ เพราะกรรมการที่มาตัดสินเด็กที่หลอดไฟพาไปแข่ง 2-3 คนพูดกับเราว่า ยูจะโคโรกราฟให้เด็กแข่งแค่นี้เหรอ ยูต้องไปไกลกว่านี้แล้วนะ ต้องออกไปได้แล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเอาตัวเองออกไปแล้ว เราสมองเราไปที่อื่นแล้ว ไปทำกับคณะที่แดนเซอร์เก่งๆ เราจะได้สร้างสรรค์อะไรที่มันล้ำลึกขึ้นมาอีก อันนี้คือจุดที่หลอดไฟอยากเป็น

อีกประมาณสองปี “นวินดา” จะออกเดินทางไปทำตาม “ความฝัน” ของเธออีกครั้ง เพื่อกลับมาสร้างสีสันวงการคอมเทมโพรารี่เมืองไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น!  

“วันหนึ่งเราจะไปทำตามความฝัน และหาเวลาออกไปชาร์จแบตที่ต่างประเทศอีกครั้ง เพราะอยู่เมืองไทยนานๆ มันจะหมดความเป็นหลอดไฟเวอร์ชั่นนี้ หลอดไฟจะเริ่มกลายเป็นหลอดไฟเวอร์ชั่นไทยๆ เป็นหลอดไฟปกติ อยู่ในสังคมได้ โดดเด่นในระดับหนึ่งก็พอแล้ว อยู่ในคอมฟอร์ดโซนแค่นี้ และไม่กล้าออกนอกกรอบตัวเอง”  

สวย เก่ง ฉลาด ชัดเจน ตรงไปตรงมาเป็นนิยามที่บอกความเป็นตัวตนของผู้หญิงคนนี้ หลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ศิลปินนักเต้นแถวหน้าของเมืองไทยที่ปลุกกระแสการเต้น คอนเทมโพรารีให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้วันนี้เธอจะประสบความสำเร็จในฐานะนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นแล้ว แต่เธอยังไม่หยุดคิดหยุดฝัน และรอเวลาที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ให้กับวงการคอนเทมโพรารีบ้านเราอีกครั้ง

Credit Pic : Bangkok Dance Academy