การผ่าตัดมะเร็งเต้านม ควรทำการเสริมสร้างเต้านมใหม่ในครั้งเดียวกันหรือไม่? มีความปลอดภัยมากแค่ไหน? และมีทางเลือกใดบ้าง? 

การผ่าตัดมะเร็งเต้านม ควรทำการเสริมสร้างเต้านมใหม่ในครั้งเดียวกันหรือไม่? มีความปลอดภัยมากแค่ไหน? และมีทางเลือกใดบ้าง? 

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ทำได้โดยนำเนื้อเยื่อที่บริเวณอื่นของร่างกายหรือใช้วัสดุที่ทำเลียนแบบเต้านม มาเพื่อเสริมหรือสร้างเต้านมใหม่ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ ในการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ส่วนใหญ่สามารถทำได้พร้อมกับการผ่าตัดรักษามะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีภาพลักษณ์ที่ดี มั่นใจในการดำเนินชีวิตต่อไป และความสวยงามดีกว่าการเสริมในภายหลัง มีวิธีการต่างๆดังนี้ครับ

1. การผ่าตัดเสริมด้วยเต้านมเทียม (Prosthesis) เพื่อทดแทนการตัดเต้านมออกบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย ปัจจุบันกว่า 80% ของการเสริมเต้านมโดยผู้ชำนาญใช้วิธีนี้

เต้านมเทียมมีหลายรูปทรง หลายขนาดและหลากหลายวัสดุที่ใช้ มีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดใดๆ เพิ่มเติมจากปกติ ถุงซิลิโคนที่ใช้มีพัฒนาการจนมีความคงทนและสัมผัสเหมือนธรรมชาติ ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วทำให้รูปร่างสวยงามกว่าเดิม ปรับขนาดและรูปร่างเต้านมตามต้องการได้ง่าย ถ้าชอบออกกำลังกาย แนะนำเสริมด้วยวิธีการเต้านมเทียมโดยถุงซิลิโคน เพราะฟื้นตัวไวและไม่มีการตัดกล้ามเนื้อบริเวณอื่น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลายรายอาจเลือกผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งสองข้าง และเสริมใหม่พร้อมกันไปเลย เพื่อเป็นการป้องกันมะเร็งแบบแน่นอนในอนาคตด้วย

ฟังการเสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคนอย่างละเอียดที่นี่ครับ https://www.facebook.com/groups/2611679525790519/permalink/2658820367743101/?sfnsn=mo

2. การผ่าตัดใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง (Transverse rectus abdominis myocutaneous flap or TRAM flap) มาทดแทนเต้านมทั้งหมดที่ถูกตัดออกไป

แพทย์จะนำผิวหนังเนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อหน้าท้องมาทดแทนเต้านมเดิมที่ถูกตัดออก การผ่าตัดวิธีนี้ใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานกว่าการตัดเต้านมเพียงอย่างเดียว โดยจะใช้เวลาผ่าตัดนานประมาณ 3 – 5 ชั่วโมงผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลนานประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องซึ่งสามารถซ่อนอยู่ในแนวขอบกางเกงในได้(bikini line) หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีความแข็งแรงของผนังหน้าท้องลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการออกกำลังกาย การว่ายน้ำ การคลอดลูกในภายหลัง

โดยทั่วไปการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นจะไม่เกิดผลเสียใดๆ ต่อการหายขาดจากมะเร็งเต้านม แต่จำเป็นต้องคัดเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสม โดยขึ้นกับระยะของโรค ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง สภาพทั่วไปรวมถึงความพร้อมในการผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ศัลยแพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลความเป็นไปได้ของวิธีต่างๆ แก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมทั่วไปมักทำภายใต้การดมยาสลบปรกติใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง ยกเว้นในรายที่มีการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านมจะใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานขึ้น โดยขึ้นกับวิธีการผ่าตัด

หลังจากเสร็จการผ่าตัดศัลยแพทย์จะเย็บผิวหนังเข้าหากันให้สนิทเหมือนเดิมโดยใช้ไหมละลายและเย็บแบบซ่อนปมใต้แผลเพื่อความสวยงาม ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการตัดไหมในภายหลัง หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องใส่เสื้อกระชับทรงที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับการผ่าตัดเต้านมและปิดแผลให้แน่นเพื่อให้ผิวหนังติดแน่นกับหน้าอกเพื่อไม่ให้เลือดและน้ำเหลืองออกมากหลังผ่าตัด และลดอาการปวดแผลที่เกิดจากการหายใจและขยับตัว

นอกจากนี้จะใส่ท่อพลาสติกเล็กๆ 1 – 2 เส้นเพื่อเป็นทางระบายเลือดและน้ำเหลืองจากแผล ท่อพลาสติกนี้จะถูกดึงออกประมาณวันที่ 2 หลังผ่าตัด หรือเมื่อเลือดและน้ำเหลืองไหลออกน้อย

โดยปรกติผู้ป่วยจะนอนพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วันและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ประมาณหนึ่งสัปดาห์แพทย์จะนัดกลับมาพบ เพื่อเปิดผ้าปิดแผลทั้งหมดออก หากว่าแผลหายสนิทดี แพทย์ผู้รักษาจะแนะนำผู้ป่วยอาบน้ำได้ตามปกติ บางรายอาจมีน้ำเหลืองคั่งค้างอยู่ใต้แผลผ่าตัดซึ่งแพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดออกเป็นครั้งๆ ไปและไม่ถือว่ามีอันตรายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด

หลังผ่าตัดเนื้อเต้านมออกหมดและเสริม (ไม่ว่าใช้วิธีใด) จะมีอาการชาที่ผิวหนังของเต้านมบ้าง (นึกภาพว่าเราคว้านเนื้อภายในออก เหลือแต่ชั้นผิวหนัง) อาการชาค่อยๆดีขึ้น ใช้เวลา 3-6 เดือนความรู้สึกกลับมาได้ 7-80% แต่ไม่ได้ 100%

การดูแลหลังผ่าตัดโดยเฉพาะเรื่องการนวดเต้านม แนะนำให้นวดเบาๆ ไม่ต้องนวดรุนแรงเหมือนผ่าตัดเสริมเต้านมเพื่อความงามทั่วไป

ขอขอบคุณและให้เครดิตภาพและเรื่อง ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์