เลิกอาย ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองได้หลายวิธี ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันโรคและรักษาตั้งแต่ระยะแรก แต่ปัญหาที่พบบ่อย คือผู้หญิงบางคนมีความอายที่จะเข้ารับการตรวจภายใน ทำให้เสียโอกาสในการตรวจพบรอยโรคระยะแรก หรือรอยโรคระยะก่อนลุกลาม ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรปรับทัศนคติเกี่ยวกับการตรวจภายใน ละความอายที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี

ตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก จำเป็นแค่ไหน?

มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี หลังติดเชื้อจะไม่ป่วยเป็นมะเร็งในทันที แต่จะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่เซลล์เยื่อบุปากมดลูก อาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด ตรวจพบได้จากการคัดกรอง ซึ่งระยะก่อนเป็นมะเร็งนี้ ใช้เวลานานเฉลี่ย 10-15 ปี ก่อนตัวโรคมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ดังนั้นถ้าหากรับบริการตรวจคัดกรอง ตรวจภายในสม่ำเสมอ จะทำให้รักษา และป้องกันก่อนที่โรคจะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ระยะลุกลาม ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีที่สุด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วัคซีน
ตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

กลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน โดยไม่ป้องกัน
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ฯลฯ)
การติดเชื้อเอชพีวีชนิดเสี่ยงสูง
อาการแสดงของมะเร็งปากมดลูก

อาการแสดงของโรคมีตั้งแต่ระยะที่ไม่แสดงอาการ ไปจนถึงแสดงอาการแทรกซ้อนเช่น ไตวาย การอุดกั้นของไตฉันพลับ หรืออาการแสดงในระยะที่โรคดำเนินไปถึงอวัยวะอื่น ๆ อาการส่วนใหญ่ที่พบมากที่สุดคือเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งอาการเหล่านี้ควรตรวจเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ

ข้อแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง

กลุ่มที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 30 ปี
กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 25 ปี หรือเมื่อเริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์
มะเร็งปากมดลูก รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ระยะติดเชื้อเอชพีวีก่อนเป็นมะเร็งสามารถรักษา ป้องกันก่อนเป็นมะเร็งได้
ระยะเป็นมะเร็งแล้วหากยังไม่ลุกลาม มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
ระยะลุกลาม รักษาได้ ต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจากรายการพบหมอรามา ช่วง Rama Health Talk อ. พญ.ลัคนา พร้อมวัฒนาพันธุ์ สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล