พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ร่วมเปิด พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)


สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นประธานโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ และโปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นประธานคณะผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ประธานคณะผู้ออกแบบ ทรงประทานอนุญาตให้ศิลปิน อาทิ ดารณีนุช ปสุตะนาวิน, รินลณี ศรีเพ็ญ,บุณฑริก ทัศนารมย์,ชนาทิป โพธิ์ทองคำ,ธารา ทิพา ร่วมตามเสด็จ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ชมวิหาร และ เจดีย์ ในการนี้เพื่อ ประชาสัมพันธ์ สืบสาน ศิลปวัฒนะธรรม และหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ให้ดำรงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และศึกษาถึงชีวประวัติของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน

ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้พาชมพระวิหารซึ่งภายในประดิษฐาน “พระพุทธวิสุทธิมงคลศาสดา เจ้าฟ้าจุฬาภรณนฤมิต” บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระเกตุมาลาพระประธานประจำวิหาร ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่า “พระพุทธวิสุทธิมงคลศาสดา เจ้าฟ้าจุฬาภรณนฤมิต” อันมีความหมายว่า “พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดา ทรงประกอบด้วยมงคลอันบริสุทธิ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสร้าง” มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองแดงบรอนซ์ลงรักปิดทองโบราณ ขนาดหน้าตักกว้าง 224 เซนติเมตร ความสูงจากองค์พระถึงพระเกตุ 329เซนติเมตร ยกฐาน 3 ชั้น ฐานพระกว้าง 308 เซนติเมตร สูง 179 เซนติเมตร ประดับอักษรพระนาม จภ.ที่ผ้าทิพย์ เบื้องหน้าพระประธาน ด้านขวาของพระประธานประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล / ด้านซ้ายประดิษฐานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต / ส่วนตรงกลางเป็นรูปหล่อหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

ในส่วนวิหาร บรรจุอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคลในรัตนเจดีย์ เพื่อเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกน้อยถวายสักการะอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคล ซึ่งประดิษฐานที่บุษบกภายในเจดีย์โดยอยู่ที่ระดับความสูง 9 เมตร 60 เซนติเมตร ซึ่งเจดีย์นี้ สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมศิลปะล้านช้าง มีความสูงทั้งหมด 61 เมตร 58 เซนติเมตร

ที่ระดับความสูง 33 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ พระพุทธรูปหินจุยเจีย และอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคลในส่วนกะโหลกและฟันซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนา วรขัตติยราชนารี เสด็จมาในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทั้ง4 องค์ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคลขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565

ส่วนยอดเจดีย์เป็นฉัตร 5 ชั้น ยอดฉัตรบนสุดเป็นทองคำ น้ำหนักทอง 86.2 กิโลกรัม ฉัตรชั้นที่ 1 น้ำหนักทอง 99.4 กิโลกรัม เริ่มจากฐานฉัตรชั้นที่ 2 ถึงปลียอดแปดเหลี่ยมเคลือบทองคำด้วยวิธีเปียกทองโบราณ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสืบสานพระพุทธศาสนาด้วยพระศรัทธาที่มั่นคง ซึ่งเมื่อโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดป่าบ้านตาดในหลายโอกาส ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในหลักคำสอนของพระธรรมวิสุทธิมงคล โดยทรงนำคำสอนมาเป็นหลักในการทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ

ในการดำเนินงาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นประธานคณะผู้ออกแบบร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยมีศิลปินแห่งชาติ 3 คน ร่วมออกแบบและดำเนินงานทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมและมัณฑนศิลป์ รวมทั้งมีคณะศิษยานุศิษย์ หน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัดอุดรธานีและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ร่วมแรงร่วมใจในการก่อสร้างรวมระยะเวลา 4 ปี จนแล้วเสร็จสมบูรณ์

พื้นที่โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล จำนวน 38 ไร่ ประกอบด้วย 3 อาคาร ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ วิหาร เจดีย์ และส่วนภูมิทัศน์ โดยรูปทรงลวดลายเจดีย์และวิหารเป็นศิลปะล้านช้างผสมผสานศิลปะยุครัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง อีกทั้งมีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้ทั้ง 3 อาคาร ตั้งเป็นแนวเดียวกับจิตกาธานสถานที่ที่พระราชทานเพลิงศพสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือหลวงตาพระมหาบัวฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 และเป็นแนวชี้ตรงไปถึงเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย สื่อความหมายว่า ศาสนพิธี หรือ สังฆกรรม ณ สถานที่แห่งนี้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ทรงร่วมรับรู้ในพิธีนั้น รวมถึงพุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบสักการะอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคลที่เจดีย์ยังได้มีโอกาสกราบจิตกาธานฯ และพระบรมศาสดาไปในคราวเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิธาตุของพระธรรมวิสุทธิมงคล รวมถึงเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะคำสอน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรมและทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ ตลอดจนเป็น “ถูปารหบุคคล” (ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน) คือ บุคคลผู้สมควรแก่การสร้างสถูปหรือเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้สักการะบูชาคุณงามความดี

ในส่วนพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสื่อผสมผสานมัลติมีเดีย จำนวน 6 ห้อง ถ่ายทอดอัตชีวประวัติพระธรรมวิสุทธิมงคล เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และนำข้อวัตรปฏิบัติ คติธรรมคำสอนไปปรับใช้ในชีวิตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ

โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ซึ่งได้รับมอบจากวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย พุทธศาสนิกชนทั่วไป