“SACICT จิตอาสา” ผสานพลังครูฯและทายาทฯ แบ่งปันความรู้งานหัตถศิลป์

 เฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยผสานพลังครูฯและทายาทฯ แบ่งปันความรู้งานหัตถศิลป์ สร้างอาชีพและรายได้ สร้างรอยยิ้มและความสุข…ให้สังคมไทย

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในโอกาสมหามงคล
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  SACICT จึงได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้ชื่อโครงการ “SACICT จิตอาสา” เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริในด้าน
“จิตอาสา” ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ในการอนุรักษ์
สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” โดย“SACICT จิตอาสา”
จัดรวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 เป็นการแสดงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติ
ในปีมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 และเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสแห่งความสุขของคนไทยทั้งประเทศ และยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า SACICT เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมของประเทศ ร่วมแสดงพลังของชาว SACICT รวมทั้งบุคลากรผู้สร้างสรรค์ผลงานงานศิลปหัตถกรรมที่ SACICT เชิดชู ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมให้แก่สังคมไทย

“สำหรับกิจกรรม “SACICT จิตอาสา” มี 2 รูปแบบ คือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ”เพื่อการสร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 ครั้งใน 4 ภูมิภาค และกิจกรรมที่สองคือ “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข” เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมไทยว่า งานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างความสุข ฝึกสมาธิ และช่วยบำบัดความเครียดแก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา เช่น กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ตามสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 ครั้ง ทั้งนี้ SACICT ภาคภูมิใจกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากสะท้อนความจงรักภักดีและความเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังสะท้อนจิตวิญญาณของจิตอาสา ซึ่งคณะจิตอาสา สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และแบ่งปันองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย และมีความสุขจากการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง” นางอัมพวัน กล่าว

การประเดิมจัดกิจกรรม “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2562 ตามรอยการพัฒนา “ผ้าปัก” กับชุมชนชายขอบ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย  โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจิตอาสา ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 บรรยายให้ความรู้ตลอดการจัดกิจกรรม  

กิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้กรอบการดำเนินงานของ SACICT ในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดการสร้างวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน ผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม สร้างคุณค่าและมูลค่าได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเท่าเทียมในสังคม
ลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคม เช่น คนชายขอบ กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรม รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างให้เศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง พร้อมกับตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นในคุณค่าทางจิตใจของงานศิลปหัตถกรรมสามารถช่วยลดปัญหาสังคม บำบัดเยียวยาและสร้างความสุขให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน เกิดการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย ทำให้เกิดพัฒนางานหัตถศิลป์ที่ครอบคลุมในหลายมิติอย่างรอบด้าน ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประชาชนคนไทย